แชร์

นกแก้วเทาแอฟริกันและโรคชักจากภาวะแคลเซี่ยมต่ำ African grey parrot and hypocalcemic tetany

อัพเดทล่าสุด: 10 เม.ย. 2024
79 ผู้เข้าชม

นกแก้วเทาแอฟริกันและโรคชักจากภาวะแคลเซี่ยมต่ำ
African grey parrot and hypocalcemic tetany
โดย น.สพ.ปฐวี นิ่มสกุล (หมอเจมส์)

ชื่อวิทยาศาสตร์: Psittacus erithacus






ด้วยความน่ารักและความฉลาดของนกแก้วเทาแอฟริกัน ที่มีความสามารถในการจดจำคำศัพท์ได้มากถึง 1500 คำ และเลียนเสียงได้หลากหลายเสียง

ทำให้นกแก้วเทาแอฟริกันเป็นหนึ่งในสายพันธุ์นกที่เป็นที่นิยมเลี้ยงทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

โดยถูกจัดอยู่ในกลุ่มนกแก้วปากขอขนาดกลาง สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ ซึ่งจะมีความต่างกัน ทั้งขนาด สีสัน



สายพันธุ์แรกคือ Congo African Grey Parrot
จะมีลำตัวใหญ่กว่า Timneh African Grey Parrot มีขนาดอยู่ที่ 12 ถึง 14 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 400-650 กรัม เหนือศีรษะและปีกมีสีเทาอ่อน ในขณะที่ใบหน้าและลำตัวมีสีขาว ที่ปลายของหางจะมีสีแดง

 

สายพันธุ์ที่สอง Timneh African Grey Parrot
มีขนาดอยู่ที่ 11 ถึง 13 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 275-400 กรัม มีสีเทาเข้ม และมีหางสีน้ำตาลแดงเข้ม ส่วนของปากเป็นสีชมพูอ่อน  

นกแก้วเทาแอฟริกันอาจมีอายุไขยาวนานถึง 40-60 ปี แต่เมื่อถูกเลี้ยงในกรงขังพบว่าอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง จึงมีการศึกษาว่าอะไรที่ทำให้นกสายพันธุ์นี้ ถึงมีสุขภาพแย่ในขณะที่นกสายพันธุ์อื่นกลับมีอายุขัยมากขึ้น



นกแก้วเทาแอฟริกันมีถิ่นกำเนิดจากแถบตะวันตกและตอนกลางของแอฟริกา ได้แก่ประเทศแองโกลา(Angola) แคเมอรูน(Cameroon) คองโก(Congo)กาน่า(Ghana)เคนย่า(Kenya)และยูกานดา(Uganda)

ซึ่งเป็นประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นชอบอำศัยในบริเวณที่เป็นป่าทึบ

 


อาหาร


นกแก้วเทาแอฟริกันสามารถเลือกกินอาหารได้หลากหลายประเภทเช่นเดียวกับนกแก้วขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ ได้แก่ เมล็ดธัญพืช (grain) เมล็ดพันธุ์พืช(seeds) ผักผลไม้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์บางชนิด

ซึ่งนกแก้วเทาแอฟริกันมีความต้องการอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน หากได้รับอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว อาจทำให้เกิดการขาดสารอาหารบางชนิดตามมา

 นำไปสู่การเกิดโรคได้ในที่สุด

เราสามารถแบ่งสัดส่วนของอาหารนกแก้วเทาแอฟริกันได้ง่ายๆ ดังนี้
อาหารส่วนใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่งของอาหารที่ได้รับควรเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มเมล็ดธัญพืช เช่น เมล็ดข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต หรือข้าวชนิดต่างๆ

เพราะเป็นแหล่งของ คาร์โบไฮเดรท โปรตีน แร่ธาตุ และวิตามิน ที่นกต้องการ

รองลงมาประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของอาหารเป็นผักและผลไม้ ที่เป็นแหล่งของวิตามินเอ และวิตามินซี รวมทั้งกากอาหาร แต่ผักและผลไม้มักมีโปรตีนและพลังงานต่ำ รวมถึงขาดแคลเซียมและวิตามินดี

ในการเลือกผักที่จะให้นกแก้วต้องเป็นผักที่สดสะอาด
เพราะมีโอกาสที่จะมีการเพิ่มจำนวนของเชื้อ Aspergillus spp. รวมถึงเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ชนิดต่างๆในผัก และประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของอาหารเป็นกลุ่มเมล็ดพันธุ์พืชอื่นๆและถั่ว ในร้านค้ามักมีการ

ขายอาหารนกแก้ว เป็นเมล็ดพันธุ์ชนิดผสม(mixed seeds) เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดถั่วพีนัท เป็นต้น ซึ่งเป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำมันที่สูง แต่ ขาดโปรตีน แคลเซียม วิตามินเอ และดี

 

ในนกแก้วโดยเฉพาะกลุ่มนกแก้วเทาแอฟริกา และนกคอกคาทีล(cockatiels) พบปัญหาของโรคขาดสารอาหารเป็นจำนวนมาก
จากการได้รับอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงอย่างเดียวหรือได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ โดยจากข้อมูลการเกิดโรคขาดสารอาหารจากอาหารที่นกได้รับ(dietary deficiency) จึงได้มีการคิดค้น

อาหารสำเร็จรูปแบบรวมไว้ในหนึ่งเดียว(all-in-one) ในรูป ของอาหารเม็ดยี่ห้อต่างๆ ที่มีความหลากหลายของรูปร่าง สี ขนาดและรสชาติ ซึ่งทำให้นกได้รับคุณค่าทางอาหาร ที่มีความสมดุล มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เจ้าของที่ให้อาหารนกสำเร็จรูปนั้น ก็ยังควรให้อาหารนกประเภทเมล็ดพันธุ์ผสมและผักผลไม้ ที่หลากหลายรวมอยู่ด้วย

 


อาการชักจากภาวะแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำในนกแก้วเทาแอฟริกา
(Hypocalcemic seizure in an African grey parrot ) 


อาการชักจากภาวะแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำเป็นหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยในการเลี้ยงนกแก้วเทาแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในนกที่มีอายุน้อยประมาณ 2-5 ปี แต่ก็มีรายงานว่า

พบในนกที่มีอายุ 8-10 ปี เช่นกัน

โดยเริ่มจากเห็นนกเริ่มมีอาการขนร่วง เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว ไปจนถึงแสดงอาการชักให้เห็น สาเหตุของอาการชักจากภาวะแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำมีอยู่หลายสาเหตุ

ซึ่งสาเหตุหลักที่พบมากที่สุดคือ การขาดแคลเซียมจากอาหาร  ในปัจจุบันเจ้าของนกที่เริ่มเลี้ยงใหม่ยังไม่เข้าใจความต้องการด้านโภชนาการ พื้นฐานของนกดีพอ

จากรายงานพบว่านกส่วนใหญ่ที่มีอาการชักมีประวัติการได้รับ อาหารประเภทเมล็ดพืชผสม (Seeds mixed) เช่น ถั่วพีนัท เมล็ดดอกทานตะวัน เพียงอย่างเดียวหรือเป็นอาหารหลัก
ซึ่งในอาหารประเภทนี้มีปริมาณของไขมันที่สูง แต่มีปริมาณโปรตีน และแคลเซียมต่ำ เมื่อได้รับติดต่อกันเป็นเวลำนานจึงพบปัญหาการขาดแคลเซียมตามมา



นอกจากปัญหาด้านอาหารที่ทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นตัวควบคุมสมดุลของแคลเซียมในกระแสเลือด
ได้แก่ ต่อมน้ำมันใต้โคนหาง(Uropygial gland) , ระดับ วิตามินดีสาม, ภาวะพร่องวิตามินเอ(Hypovitaminosis A) ,การได้รับรังสียูวีและอิทธิพลของพาราไธรอยด์ฮอรโมน เป็นต้น

การควบคุมสมดุลของแคลเซียมจะเป็นปกติได้ต้องมั่นใจว่าต่อมน้ำมันใต้โคนหางสามารถทำงานได้เป็นปกติ เพราะเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างสารตั้งต้นวิตามินดีสาม

(VitaminD3 precursors) ซึ่งจะปกคลุมบนขนของนกจากการแต่งตัว เมื่อได้รับรังสียูวีบี (UVB) สารตั้งต้นวิตามินดีจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินดีที่สามารถใช้งานได้

และถูกกลืนเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร เพื่อให้กระบวนการสังเคราะห์วิตามินดีสามสมบูรณ์

 

นกควรได้รับรังสียูวีจำกแสงแดดธรรมชาติโดยไม่ผ่านการกรอง รังสีใดๆ
จากการสำรวจข้อมูลของ Margarret A. wissmanในปี 2006 พบว่านกแก้วเทาแอฟริกาที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อยกลางแจ้งพบปัญหาการชักน้อยมาก ต่างจากนกที่เลี้ยงในร่มเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นภาวะ

พร่องวิตามินเอ(Hypovitaminosis A) สามารถเป็นสาเหตุทำให้ต่อมน้ำมันใต้โคนหางไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ จะเกิดความผิดปกติต่อเซลล์เยื่อบุของต่อมได้

 
นกควรจะได้รับวิตามินเอในปริมาณที่เพียงพอ
โดยสามารถเสริมได้จากการได้รับเบต้าแคโรทีน(Beta-carotene) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ ที่มีความปลอดภัยและไม่พบภาวะเป็นพิษ เมื่อเปรียบเทียบกับการได้รับวิตามินเอเกินขนาดโดย

แหล่งของเบต้าแคโรทีนมีหลากหลาย ส่วนมากจะอยู่ในผักผลไม้ที่มีสี ส้มถึงสีแดง

 

ปัญหาด้านโภชนาการที่นกได้รับอาหารที่มีระดับแคลเซียมไม่เพียงพอ
โดยอาหารที่นกได้รับควรจะมีสัดส่วนของแคลเซียมและ ฟอสฟอรัสอยู่ที่ 1.5-2 : 1 หากอาหารไม่เป็นไปตามสัดส่วนคือมี ปริมาณของแคลเซียมที่น้อยเกินไปหรือมีปริมาณฟอสฟอรัสที่มากเกินไป

ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดจะเริ่มต่ำลงเป็นตัวกระตุ้น การทำงานของพาราไธรอยด์ฮอร์โมน ( Parathyroid hormone;PTH) ที่ทำหน้าที่เพิ่มปริมาณแคลเซียมในกระแสเลือด โดยพาราไธรอยด์

ฮอร์โมนจะกระตุ้นให้มีการดูดกลับแคลเซียมมากขึ้นและเพิ่มการขับออกของฟอสฟอรัสที่ไต มีการดูดซึม แคลเซียมเพิ่มมากขึ้นในทางเดินอาหาร และมีการสลายแคลเซียม จากกระดูกสู่กระแสเลือด

หากปัญหาเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน จะพบว่านกจะมีปัญหาของโรคเมตาบอลิกกระดูก (Metabolic bone diease) ตามมา

 

การวินิจฉัย


การวินิจฉัยอาการชักภาวะแคลเซียมในกระแสจากเลือดต่ำในนกแก้วเทาแอฟริกา
ต้องอาศัยข้อมูลประวัติการเลี้ยงดูและ อาการที่พบจากเจ้าของ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยระดับแคลเซียมในกระแสเลือดปกติอยู่ในช่วง 2 ถึง 4 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ซึ่งในนกป่วยบางตัวจะ พบว่ามีระดับของแคลเซียมที่ต่ำอย่างเด่นชัด แต่บางตัวมีระดับของแคลเซียมปกติ สามารถอธิบายได้ว่าแคลเซียมในกระแสเลือดแบ่งได้เป็น 3 ส่วน

ได้แก่

- แคลเซียมที่อยู่ในรูปไอออนของ เกลือ(Ionized calcium)
- แคลเซียมที่จับกับโปรตีน(Bound calcium)
- แคลเซียมที่จับกับสารอื่นๆ(Complexed)
 

ภาวะแคลเซียมในกระแสจากเลือดต่ำที่ทำให้เกิดอาการชักได้คือ แคลเซียมที่อยู่ในรูปไอออนมีปริมาณลดลงแต่การตรวจทาง ห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่เป็นการตรวจปริมาณความเข้มข้นของแคลเซียม

ทั้งหมด(Total serum calcium concentration) ไม่สามารถตรวจแคลเซียมที่อยู่ในรูปไอออนได้ ในทางการรักษาแม้ว่าตรวจระดับแคลเซียมในกระแสเลือดอยู่ในระดับปกติ แต่ประวัติการเลี้ยงดูและอาการ

ใกล้เคียงภาวะดังกล่าว สัตวแพทย์มักจะพิจารณาการให้แคลเซียมร่วมกับวิตามินดีซึ่งผลคือ สามารถแก้ไขอาการชักได้ ทางที่ดีที่สุดสำหรับภาวะดังกล่าวไม่ใช่การรักษา หากแต่เป็นการป้องกันโดยการให้

นกได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอร่วมกับการจัดการที่เหมาะสม

 


 


 


บทความที่เกี่ยวข้อง
การช่วยนกตกรัง
โดย หมอพี (น.สพ. พงค์ภัค พิทักษ์พล) และหมอแก้ว (ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล)
20 เม.ย. 2024
เลี้ยงนก วิตามินเอมาจากไหน?
โดย หมอสตางค์ (น.สพ.เสกฐชนม์ เพิ่มเยาว์)และ อ.แก้ว (ผศ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล) โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ
20 เม.ย. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy