ยาโด้ป ในไก่ชน
ยาโด้ป ในไก่ชน
โดย หมอแก้ว (ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล)
บทความนี้จะกล่าวถึงยากลุ่มฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเตอโรนหรือแอนโดรเจน
บางทีในกลุ่มผู้ใช้ในไก่ชน วัวชน ก็อาจจะเรียกว่า โกรทแฟกเตอร์
มีการนำไปใช้ในรูปแบบต่างๆ และเรียกชื่อไปต่างๆนานา บ้างซ่อนอยู่ในรูปสมุนไพร อาหารหรือเครื่องดื่มชูกำลัง บ้างก็เรียกฮอร์โมนกันตรงๆ
ในคนจะต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังเพราะเกิดอันตรายร้ายแรง จึงต้องใช้ตามแพทย์สั่ง ซึ่งจะนำไปใช้กับผู้ที่มีปัญหาพร่องฮอร์โมนแอนโดรเจน พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ภาวะขาดฮอร์โมนนี้จะทำให้เกิดความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศเล็ก อสุจิลดลงหรือเป็นหมัน กล้ามเนื้อลีบ กระดูกพรุน จนไปถึงภาวะซึมเศร้าได้ เมื่อได้รับฮอร์โมนจะเกิดพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น และยังมีผลต่อเซลล์ต่างๆ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของร่างกาย และช่วยพัฒนาความเป็นเพศชายในคน ซึ่งในคนมักจะใช้ผลดังกล่าวมาใช้ในการเพาะกายหรือเพาะกล้ามเนื้อให้ใหญ่โตและสวยงาม ส่วนในสัตว์ปีกพบการใช้ในนกกระจอกเทศที่ต้องการอัตราแลกเนื้อที่สูงขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อโต ในไก่ชนนั้นระยะแรกๆ ไก่จะตอบสนองเป็นอย่างดี เช่น มีความกำหนัดและผสมติดดี หน้าแดง กล้ามเนื้อขยายขนาดและแข็งแรงมากขึ้น มีความคึกคักและก้าวร้าว เมื่อเห็นคู่ต่อสู้จะมีความกล้าหาญ อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้ในขนาดที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะขนาดที่สูง และกินต่อเนื่องโดยไม่มีการกำกับให้ถูกต้อง กลับเกิดผลข้างเคียงในด้านตรงข้าม และเกิดผลเสียต่อร่างกายในระบบต่างๆ อีกหลายระบบ ในคนและในไก่มีความสอดคล้องกันดังต่อไปนี้
ในคนจะพบผลที่มีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดการบวมตามร่างกาย และหัวใจวายได้ ถ้าเป็นไก่มักจะตายในสนามหรือหลังการตี
ทั้งนี้ต้องแยกจากโรคหรือภาวะอื่นๆที่แทรกซ้อนจากการตี และการเร่งตีรีดกำลังจากการใช้ยาโด้ปต่างๆ
เช่น captive myopathy คือภาวะกล้ามเนื้อเสื่อมและผลิตกรดแลคติกสูงจนเกิดภาวะกรดในเลือด พบตับอักเสบ เนื้องอกและมะเร็งตับ ซึ่งในสัตว์ปีกมักจะพบตับโตและเปราะบาง จะพบเมื่อผ่าซาก ตับจะบวมสีซีดและเปื่อยยุ่ย แต่หากศึกษาจากมูลจะพบมูลเขียวกว่าปกติจนคล้ายวุ้นสีเขียว ในคนต่อมลูกหมากจะเริ่มโต ความกำหนัดลดลง การผลิตอสุจิลดลง
ในไก่มักส่งผลต่อไก่พ่อพันธุ์ที่ใช้ยาโด้ปต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ไม่มีอสุจิหรือลดลงหรือประสิทธิภาพในการผสมติดลดลงจนอาจผสมไม่ติด ในคนเกิดปัญหากับอิเลกโตรไลต์และไต ในสัตว์ปีกมักจะพบอาการไตบวมอยู่เสมอทั้งจากภาพรังสีเอ็กซเรย์และการผ่าซาก ในคนเกิดการชะลอการสร้างกระดูก แม้ว่าในไก่จะยังไม่พบรายงานชัดเจนแต่เชื่อว่ามีผลเช่นกัน
การเกิดปัญหากับไตและตับ มักเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียหน้าที่ในการกำจัดสารพิษจากร่างกาย กระบวนการเมตาบอลิสม กระบวนการสร้างพลังงาน
แม้ว่าไก่จะได้รับอาหารที่ดี แต่เมื่อตับเสื่อมถอยจากยาโด้ป มักจะเกิดผลลบในระยะหลังให้เห็นได้ชัด ไก่ที่เคยกระปรี้กระเปร่าจะเริ่มมีความเมื่อยล้าสะสม จนในที่สุดก็ยากจะนำกลับคืน เป็นการเสื่อมถอยทั้งที่การกินอาหารและยา และการซ้อมเป็นปกติไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ผลขอฮอร์โมนยังมีผลกับระบบทางเดินหายใจได้ การย่อยอาหารผิดปกติ รวมทั้งการสร้างกล้ามเนื้อในระยะหลังจะผิดเพี้ยนและเป็นตรงข้าม คือกล้ามเนื้อลีบ และไม่มีกำลัง ให้ศึกษาจากภาพประกอบกันครับ
ในทางเลือกที่เหมาะสม หากเลือกได้ควรหลีกเลี่ยง และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งยังมีอีกมาก และเกิดผลกระทบกับร่างกายลดลงอย่างมาก ติดตามบทความเกี่ยวกับยาโด้ปอื่นๆต่อไปครับ