แชร์

โรค ห่า ระบาด ในไก่พื้นเมือง

อัพเดทล่าสุด: 10 เม.ย. 2024
109 ผู้เข้าชม

โรค ห่า ระบาด

โดย ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล (หมอแก้ว)
ลิขสิทธิ์ของวารสารคลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ  โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ

 


               พอจะทราบข่าวการเกิดการระบาดของอหิวาต์เป็ดไก่ที่จังหวัดขอนแก่นกันแล้วนะครับ ผมรู้จักคนเลี้ยงไก่ชนทั้งสมัครเล่นและมืออาชีพอยู่หลายๆคน ได้มีโอกาสพูดคุยกันในเรื่องนี้ บางท่านกล่าวว่าแม่ไก่บางตัวเมื่อวานยังดีๆอยู่เลย เช้าต่อมาพบมีอาการหน้าบวม หน้าคล้ำ (ดังรูป) น้ำลายเหนียวคล้ายมูก และเสียชีวิตทันที และต่อมาก็พบไก่ทุกๆรุ่นตาย และมีอัตราการตายสูงจนเกือบหมดเล้า ตายมากและตายทันที เป็นแบบนี้หลายๆฟาร์ม สมกับที่มีชื่อเดิมๆว่า โรคห่า

 

                อะไรคืออหิวาต์

                 อหิวาห์สัตว์ปีกเกิดจากเชื้อที่เราคุ้นเคยกันดี คือ Pasteurella multocida ที่เกิดกับสัตว์ปีกในประเทศไทย เป็น serotype A:1, A:3 และ A:4 ช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้มากคือฤดูร้อนหรือช่วงที่กำลังเปลี่ยนฤดู ถ้าสังเกตให้ดีเราเจอกันทุกๆปีทีเดียว

 

                 มันติดต่อได้ง่ายมาก ติดมาจากคนก็ได้ สัตว์ต่างๆ ซากสัตว์โดยเฉพาะซากสัตว์ปีกด้วยกัน และอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน แม้กระทั่งในดินเองก็อาจจะมีเชื้อชนิดนี้สะสมอยู่ เกิดการติดเชื้อผ่านการกิน และการหายใจ

 

                  โดยธรรมชาติของเชื้อพวกนี้ จะมุ่งทำลายทุกอวัยวะในร่างกาย แต่อวัยวะเด่นๆในระยะแรก มักจะเป็นระบบทางเดินหายใจ อาการจึงพบเกี่ยวกับระบบหายใจได้มาก เช่น หายใจลำบากหรืออ้าปากหายใจ หน้าบวม เมื่ออ้าปากจะเห็นเพดานปากบวม มีน้ำลายเหนียวข้น เสียงแหบหรือไม่มีเสียง บางตัวพยายามสะบัดหน้า แต่ส่วนใหญ่มักจะคอตก และง่วงซึม ระบบไหลเวียนโลหิตและการถ่ายเทออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆจะลดลง ทำให้บริเวณหน้าและหงอนเริ่มซีดไปจนคล้ำม่วง บางรายที่ปอดอักเสบอย่างรุนแรงและรวดเร็วอาจไม่พบอาการทางคลินิกที่ชัดเจน มักพบหางกระดกเนื่องจากปอดและถุงลมมีการอักเสบ มีเสมหะมากผิดปกติ ส่วนใหญ่จะอ่อนแรง รู้สึกว่าตัวร้อน และหลังจากนั้นจะพบอาการของระบบอื่นชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต เช่นอาการถ่ายเหลว สีเหลืองหรือเขียวจากความผิดปกติของตับ และหรือมีคราบของยูเร็ตมากผิดปกติจากความผิดปกติของไต เป็นต้น เนื่องจากมันมุ่งทำลายทุกอวัยวะ จนสามารถแสดงอาการที่เกี่ยวข้องกับทุกระบบในร่างกาย แต่สัตว์มักจะตายก่อนที่อาการจะเด่นชัด ในรายที่รอดและเกิดแบบเรื้อรัง จึงอาจพบอาการทุกระบบ แต่ส่วนใหญ่จะพบอาการบวมในหลายแห่งในร่างกายได้ เช่น เปลือกตาบวมและอักเสบ หน้าบวม กล้ามเนื้อและข้อบวม และมีหนองกระจายอยู่ทั่วไปในอวัยวะต่างๆ จากภาพที่นำมาแสดงจะเห็นการอักเสบทั่วร่างกาย หรือทุกอวัยวะสำคัญ และเมื่อทำการเพาะเชื้อจะพบเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ ได้แก่ Pasteurella multocida

 

                  ทำไมถึงเกิดในไก่ชนหรือไก่พื้นเมือง ทำไมไม่เกิดกับไก่ฟาร์ม

                   ผมเคยพบไก่แจ้ในป่า (วัดป่า) ตายห่ากันมากมายในช่วงฤดูนี้เช่นกัน ไก่ชนนั้นเห็นจะพบอยู่ทุกปี ทั้งนี้เพราะไก่เหล่านี้ไม่ได้รับวัคซีน จึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากที่สุด และเป็นข้อที่เห็นว่าแตกต่างจากไก่ฟาร์ม ที่มีโปรแกรมการทำวัคซีนชัดเจนและเข้มงวด ยังมีระบบสุขาภิบาลที่ดี และกำหนดความหนานแน่นที่เหมาะสมได้ แต่พวกเราชาวบ้านอยากเลี้ยงเท่าไรก็เลี้ยง ยิ่งใครเป็นผู้เพาะเลี้ยงไก่ชนด้วยแล้ว ยิ่งต้องการเพาะพันธุ์ให้ได้ลูกหลานเยอะๆ รวมทั้งมีผู้มาเยี่ยมชมฟาร์มไม่ขาดสาย ใครจะนำพาเชื้อมาด้วยก็ไม่อาจจะทราบได้ ไม่มีระบบกำจัดเชื้อหรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม และเมื่อเกิดปัญหาไก่หรือมีสัตว์ปีกชนิดอื่นๆตายไม่ทราบสาเหตุ ก็มักจะเพิกเฉยคิดว่าคงไม่เป็นอะไร และยังไม่กำจัดซากที่ผิดปกตินั้นให้ดี ก็กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ อาหารและน้ำไม่สะอาด และหากินตามธรรมชาติที่ไม่ได้ทำการควบคุมสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ จึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายกว่าฟาร์มมาตรฐาน ฟังแล้วยุ่งยาก เพราะพวกเราก็เลี้ยงไก่ชนมาแบบง่ายๆแต่ไหนแต่ไร แล้วจะทำอย่างไรกันดี

 

                   สัตว์ปีกควรได้รับวัคซีนอหิวาต์ นี่เป็นหัวใจ ในไก่พื้นเมืองต้องเริ่มกันทันทีที่อายุ 3 สัปดาห์ ครั้งที่สองเมื่ออายุ 5 สัปดาห์ หลังจากฉีดวัคซีนทุกๆ 12 สัปดาห์ ตัวละ 1 ซีซี (กรมปศุสัตว์) เพราะเป็นแบบนี้ไก่ชนจึงมักหลุดวัคซีน เพราะเจ้าของไม่ทราบหรือลืมทำเมื่อถึงกำหนด ไก่ที่เลี้ยงขายเขาเลี้ยงไม่นาน เขาก็ไม่จำเป็นต้องทำวัคซีนกันบ่อยๆ แต่คนเลี้ยงไก่ชนมีความจำเป็นที่ต้องใส่ใจในการฉีดซ้ำ จึงจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

 

                     นอกจากอหิวาต์แล้ว ก็อย่าลืมจับตามองไข้หวัดที่กำลังระบาดในต่างประเทศกันอยู่เสมอ เช่นกำลังมีการระบาดของไข้หวัดนกที่ประเทศจีน เป็นสายพันธุ์ใหม่ H7N9 มีการประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับการวางแผนครอบครัวและสุขภาพแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 นี้เอง พบผู้ป่วยนับพันราย เราก็ต้องระวังกัน

 

                      สัตวแพทย์เองสนใจด้านนี้กันมากขึ้น เพราะมีผู้เลี้ยงมาขอคำแนะนำกันมากขึ้น จำนวนไม่น้อยจึงมีวัคซีนไว้บริการ บริการให้การตรวจรักษา และให้คำแนะนำด้านสุขภาพ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะไก่ชนก็ไม่ต่างไปจากนกราคาแพงๆ สัตวแพทย์ที่ทำเอ็กโซติกดูแลนกราคาแพงๆ หลักแสนหลักล้าน ไก่ชนเดี๋ยวนี้ก็หลักแสนหลักล้านก็มีแล้วเช่นกัน เจ้าของถือได้ประคบประหงมดูแลอย่างดี จะให้รักษาแบบเดิมๆคงไม่ได้ ของแบบนี้พรีเมี่ยมแล้วก็ทำให้ถึงที่สุด คนได้ประโยชน์แท้จริงก็คือเจ้าของไก่ชน และเป็นโชคดีของไก่อย่างมาก ที่ถูกยกระดับการดูแลให้เหมาะสมกว่าแต่ก่อน




บทความที่เกี่ยวข้อง
การหายของแผลในไก่ชน
โดย หมอพี (น.สพ. พงศ์ภัค พิทักษ์พล) และ อ.แก้ว (ผศ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล)
12 เม.ย. 2024
ไก่อาหารไม่ย่อย เกิดจากอะไร? บางสาเหตุที่ถูกมองข้าม!
โดย หมอสตางค์ (น.สพ.เสกฐชนม์ เพิ่มเยาว์) และ อ.แก้ว (ผศ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล) โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ ขอนแก่น
12 เม.ย. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy