แชร์

ปัญหาที่พบบ่อยในเต่าเสือดาว

อัพเดทล่าสุด: 10 เม.ย. 2024
81 ผู้เข้าชม

ปัญหาที่พบบ่อยในเต่าเสือดาว

โดย ผศ.ดร. สมโภชน์ วีระกุล (หมอแก้ว)

 


ลิขสิทธิ์ของวารสารคลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ พ.ศ. 2560 (25/8/2560)

สารบัญภาพ: A, B, C: เป็นภาพกระดองของเต่าเรเดียต้า (Radiata) และ D: กระดองปกติของเต่าเหลือง (Yellow tortoise)

 

            เต่าเสือดาว หรือ Leopard Tortoise ในเมืองไทย พบมีการเลี้ยงค่อนข้างมาก เชื่อว่ามีผู้สนใจเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลานมากกว่า 18000 ราย และจำนวนไม่น้อยเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงที่นิยมเต่าบกโดยเฉพาะ เต่าชนิดนี้พบทั้งสองชนิด ได้แก่ เต่าเสือดาวธรรมดาหรือบับคอคกี้ Stigmochelys pardalis babcocki และเต่าเสือดาวอัฟริกาใต้หรือพาร์ด้าหรือพาร์ดาลิส Stigmochelys pardalis pardalis มีคำภาษากรีกที่น่าสนใจเรียนรู้ เพราะบ่งบอกลักษณะเฉพาะของเต่าสายพันธุ์นี้ คือ คำว่า Stigma หมายถึงลายเป็นจุด และ Chelone หมายถึงเต่าบก เต่าชนิดนี้จึงมีลายเฉพาะเป็นจุดๆทั่วร่างกาย ทำให้คล้ายกับเสือดาว จึงมีคำสปีชีส์ว่า Pardalis ต่อท้าย แต่มักจะพบได้ชัดในเต่าที่กำลังเจริญเติบโต เมื่อโตเต็มที่สีจะเริ่มจางลง และบางตัวอาจจะเปลี่ยนเป็นสีพื้นๆ น้ำตาลหรือเทาได้ไม่ถือว่าผิดปกติ และยังแบ่งสปีชีส์ย่อยออกมาเป็นอีกสองชนิดดังข้างต้น นับว่าเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยอาจมีขนาดยาวถึง 70 เซนติเมตร (โดยเฉลี่ยประมาณ 40 เซนติเมตร) และมีน้ำหนักมากถึง 40 กิโลกรัม (ปกติ 13-20 กก.)   อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าในเขตกึ่งแห้งแล้งถึงแห้งแล้ง เขตทุ่งหญ้าสะวันนา ทั้งในอัฟริกาตะวันออก ทางตอนเหนือ และใต้ เช่น ประเทศซูดาน เอธิโอเปีย แซมเบีย บอทสวานา นามิเบีย แองโกล่า โซมาเลีย เป็นต้น แต่ไม่พบในเขตป่าแถบอัฟริกากลางที่มีระดับความชื้นที่สูง จึงต้องอาศัยอาหารที่มีความแห้งหยาบหรือเยื่อใยสูงได้เป็นอย่างดี และได้น้ำจากพืชหรือใบหญ้าอ่อน พืชอวบน้ำและพวกที่มีหนาม อย่างเช่น กระบองเพชร ถึงแม้จะเรียกว่าเป็น true herbivore หรือกินพืช 100% เช่นเดียวกับเต่าบกจำนวนมากที่บางครั้งจะพบการกินซากสัตว์ และกระดูก แม้กระทั่งมูลของสัตว์ชนิดอื่นในกลุ่มผู้ล่า เพื่อเสริมแร่ธาตุที่สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะแคลเซียม แต่กลับพบว่ามีความสามารถในการย่อยพวกเมล็ดธัญพืชได้แย่ มีนักวิชาการกล่าวถึงเต่าชนิดนี้เมื่อถูกนำมาเลี้ยง ว่ามักจะถูกเลี้ยงไม่เหมาะสม เพราะเขาเชื่อว่าการเลี้ยงและให้อาหารที่ใกล้เคียงธรรมชาติเดิมนั้นสำคัญต่อการอยู่รอดของเต่าเสือดาว (Highfield, A. C.) พบว่าการให้อาหารที่มีความเปียกหรืออวบน้ำมากกว่าความต้องการ เช่น ผักสดต่างๆ และผลไม้มากไปทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้น แท้จริงมันไปสัมพันธ์กับสัดส่วนของอาหารหยาบที่มีระดับของเยื่อใยอาหารสูง จะลดลงเมื่อเต่าได้รับอาหารชนิดอื่น จึงเหมือนกับสัตว์กินพืชทั่วๆไปที่จะเกิดปัญหาเรื่องการขับถ่าย ที่เรียกว่า gastrointestinal hypomotility ในเต่าบกจะเรียกว่า colic ศัพท์เดียวกับในม้าหรือช้าง หรือภาวะลำไส้อืด และก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเชื้อในทางเดินอาหาร เช่น พวก flagellate protozoa ผมค่อนข้างเห็นด้วย แต่ที่พบมากกว่านั้น เขาจะเรียกว่าภาวะเสียสมดุลจุลชีพเมื่อลำไส้เกิดการบีบตัวที่ช้าลง พวกจุลชีพที่เป็นผู้ดีจะลดลง ขณะที่พวกก่อโรคจะเพิ่มจำนวนขึ้นมากมหาศาล เพราะมันมีอยู่แล้วในทางเดินอาหารแต่ถูกกลไกการป้องกันของร่างกายและจุลชีพที่เป็นประโยชน์คอยยับยั้งเอาไว้ และยังมีเรื่องที่ต้องบอกกันมากกว่านั้นอีก หากเข้าใจได้ว่าสัตว์กินพืชต้องเจออะไรบ้าง เมื่อกินไม่ถูกสัดส่วน เช่น ภาวะกรดในร่างกายที่สูงขึ้น และปัญหาที่จะพบหลังจากนั้น

นอกจากนี้นักวิชาการฝรั่งคนเดียวกัน ซึ่งเขาเป็นนักสัตววิทยาที่สนใจติดตามเต่าบกจริงจังมาก ยังให้ข้อสังเกตว่าในการเลี้ยงของผู้คนจำนวนมาก มักใส่ใจกับการเร่งการเจริญเติบโต ทำให้โตเร็วเกินไปเกิดความผิดปกติของกระดูก และมีระดับของยูเร็ตสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาเรื่องเกาต์ นิ่ว และตับเสียหาย จึงอยากหยิบยกกรณีศึกษามาให้ได้ทำการศึกษากัน

เต่าเสือดาวขนาดมากกว่า 30 เซนติเมตร พบว่ามีอาการถ่ายเหลวติดต่อกันหลายวัน และไม่กินอาหาร ต่อมาก็ไม่พบการขับถ่ายเลย และมีอาการซึมมากขึ้น หลายตัวได้ทยอยตายมาก่อนหน้านี้แล้ว มีการรักษาไปบ้างแล้ว จากการตรวจร่างกายจะพบการพองของช่องท้องทำให้เห็นคล้ายการบวมที่ซอกขาหน้าและขาหลัง พบอาการหายใจลำบากในบางราย กระดูกหลังส่วนสันหลังนูนคล้ายปิรามิด (ดังรูป A: ใช้รูปประกอบจากเต่าชนิดอื่นแทนเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น)) แต่กระดองและแผ่นเกล็ดกระดองยังแข็งเป็นปกติ เมื่อทำการตรวจมูลพบสัดส่วนของโปรโตซัวเพิ่มขึ้น (ปกติจะพบมากอยู่แล้ว) กลิ่นมูลเหม็น และทำการเอ็กซเรย์พบลักษณะภาวะลำไส้อืดทั่วทั้งท้อง (generalized ileus) และผนังของลำไส้หนาตัว พื้นที่ปอดถูกกดและมีขนาดเล็กลง ทำให้เห็นบางส่วนทึบกว่าปกติ โดยไม่พบอาการของระบบทางเดินหายใจอื่นๆ นำตัวที่ตายทำการชันสูตรซาก พบว่าผนังลำไส้บวมและวาว เกิดการอักเสบของลำไส้และหลายอวัยวะ

แต่ลักษณะที่สำคัญอีกประการคือการพบปัญหาของกระดูก (ดังรูป B) พบการแยกตัวของแนวกระดูกสันหลังออกจากกระดูกหรือกระดองอย่างชัดเจน และมีการบิดงอของกระดูกบริเวณช่องอก (ดังรูป C) ซึ่งเป็นลักษณะที่พบในเต่าเสือดาวมากกว่าเต่าชนิดอื่นๆ และเมื่อทำการเทียบกับเต่าที่มีการเชื่อมของกระดองหลังและกระดูกสันหลังตามปกติ (ดังรูป D) แม้ว่าการพบโรคเมตาบอลิกกระดูกผิดปกติ (Metabolic Bone Disease: MBD) ในเต่าจะไม่ทำให้เกิดการตาย แต่จะทำให้แคระแกร็นเหมือนที่พบในสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ ที่เมื่อเกิดโรคกับกระดูกแล้ว จะให้เจริญเติบโตตามปกติจะเป็นเรื่องยากกว่าเดิม หรือบางร่ายจะมีปัญหาการผิดปกติของระบบประสาท เกิดอัมพฤกษ์และอัมพาตได้ แต่จะพบได้น้อยในเต่า การค้นพบและแปรผลนี้มีความสำคัญมากในการนำเสนอให้ผู้เลี้ยงมีความตระหนักมากขึ้น และมักไม่ปรากฏให้เห็นในตำราใดใด

ลักษณะที่พบในภาพเอ็กซเรย์จะสอดคล้องกัน คือพบการยกตัวจากภาพถ่ายด้านข้าง ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิด pyramiding ของกระดองหลัง 100% ดังนั้นการสำรวจการเจริญเติบโตของเต่าจึงสำคัญและทำการตรวจโดยการเอ็กซเรย์จะช่วยยืนยันปัญหาในระยะแรกๆได้ และปัญหานี้แก้ไขได้เมื่อเห็นแต่แรก

 

บทความนี้ยกตัวอย่างเต่าเสือดาวขึ้นมาด้วยเหตุผลว่า มีความนิยมเพิ่มขึ้น มีความต้องการสูง ราคาบางชนิดแพงมากและมีไม่กี่ตัว ขณะที่ภาวะการเกิดโรคนั้นไม่แตกต่างไปจากเต่าชนิดอื่นๆ  อย่างในภาพประกอบจะเห็นว่าเป็นเต่าเรเดียต้าหรือดาวรัศมีที่เป็นอีกสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงกับปัญหาเช่นนี้ นอกจากนี้ยังพบได้มากในเต่าสายพันธุ์ใหญ่ๆ อีกหลายชนิดที่ต้องการให้มีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้น ปัญหาคงไม่ใช่การเกิด bone deformities แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังพบว่าเกิดการอักเสบของทางเดินอาหาร ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการตายและติดต่อไปสู่อวัยวะอื่นๆได้อีก เนื่องจากหลายภาวะที่เกิดขึ้นเสี่ยงต่อการเกิดการสะสมกรดในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น การอักเสบทั่วร่างกาย และอวัยวะล้มเหลว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจไม่มากก็น้อย



บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy