แชร์

โรคลงพื้นหรือหน่อเท้าไก่

อัพเดทล่าสุด: 10 เม.ย. 2024
118 ผู้เข้าชม

โรคลงพื้นหรือหน่อเท้าไก่

โดย ผศ.ดร. สมโภชน์ วีระกุล (หมอแก้ว)



เป็นโรคที่พบได้เสมอ เรียกได้หลายชื่อตามแต่ละท้องถิ่น บางครั้งก้เรียกว่าปรวด หรือเรียกอย่างสากลว่า Pododermatitis หรือ Bumble foot disease

มักมีสาเหตุโน้มนำมาจากลักษณะของพื้นกรงหรือคอกที่แข็ง หรือทำจากวัสดุที่สามารถทำให้ได้รับบาดเจ็บ เช่น

- ตาข่ายพลาสติก

- กรงเหล็ก

- การได้รับการกระแทก

- พื้นคอกชื้น

- อายุมาก

- การเลี้ยงหนาแน่น

รวมทั้งการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ไบโอติน

ลักษณะของอาการ

ระยะแรกฝ่าตีนและอุ้งใต้นิ้วจะบวมแดงร้อนเล็กน้อย ข้อนิ้วและข้อตีนจะบวมได้ อาจพบหรือไม่พบแผลถลอกก็ได้ ไก่จะเริ่มแสดงอาการเจ็บ และไม่ค่อยกล้าลงน้ำหนักลงบนตีนข้างที่เกิด ระยะต่อมาจะเริ่มเห็นแผลหลุมขนาดใหญ่และลึก บางครั้งจะพบว่าอุ้งใต้นิ้วจะมีอาการเห็นชัดก่อน มีการสร้างเคอราตินมากขึ้นในชั้น stratum intermedium หรือพบการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันด้านล่างของบาดแผล ในแผลพบการสร้างหนองและมีแผ่นสะเก็ดปิดสีดำ (scab) แบคทีเรียที่พบมักจะเป็นกลุ่ม Staphylicoccus aureus และ Streptococcus spp. ไก่จะไม่สามารถวางตีนได้ ระยะต่อมรอยโรคจะเริ่มแข็งตัวจากการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมากขึ้น มีการเจริญของเคอราตินมากเกินไปในชั้นหนังกำพร้า ที่เรียกว่าตาปลา (hyperkeratosis)

ไก่จะวางตีนได้ แสดงอาการเจ็บปวดลดลง หนองจับตัวเป็นก้อน ในหลายรายอาจไม่พบหนอง แต่พบลักษณะตาปลาที่หนังกำพร้า เมื่อเปิดผ่าเข้าไปจะพบก้อนเหมือนเนยแข็ง หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันลักษณะคล้ายนิ้วมือด้านล่างของบาดแผล ในบางรายที่รุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและมีการติดเชื้อลุกลาม ทำให้เกิดปัญหาโพรงกระดูกอักเสบ (osteomyelitis) ตามมาได้ จำพบบริเวณข้อนิ้วและข้อตีน บางครั้งที่ข้อเข่ามีอาการบวมมาก

การรักษา

ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ทำการวางยาสลบไก่ตามความจำเป็นในการรักษา และทำการล้างบาดแผลและบริเวณโดยรอบให้สะอาด ในรายที่เริ่มมีอาการเพียงบวมร้อนแดงในระยะแรก เรียกว่า ระดับ 1

ให้รักษาโดยการทาขี้ผึ้งหรือครีมบำรุงผิวของคนที่มีลาโนลินผสมเป็นเบส จะช่วยรักษาความชื้นในชั้น stratum corneum ยืดอายุของเซลล์ จะป้องกันการเกิดตาปลา แก้ไขพื้นกรง พันอุ้งตีนด้วยวิธี interdigital bandage หรือ ball bandage จนกว่าจะหาย

ในระยะต่อมาที่รอยโรคเริ่มบวมอักเสบมากขึ้นและมีการสร้างตาปลาแล้ว เรียกว่าระดับ 2 ให้ทาด้วยขี้ผึ้งหรือครีมบำรุงผิวของคนที่มีลาโนลินผสม เพิ่มการให้ไวตามินเอในขนาด 100,000 หน่วยต่อน้ำหนักไก่ 1 กิโลกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ในสัปดาห์แรก 2 ครั้ง สัปดาห์ถัดไปสัปดาห์ละครั้ง และพันอุ้งตีนไว้

หากพบว่ามีการเสื่อมของชั้นเยื่อบุผิว การอักเสบ บวมร้อนแดงอย่างมาก มีบาดแผล อาจพบหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และสะเก็ดสีดำปิด เรียกว่าระดับ 3 ให้เปลี่ยนจากขี้ผึ้งเป็นสารผสมระหว่าง dimethylsulphoxide (DMSO)  5 มิลลิลิตร ยาต้านการอักเสบ นิยมใช้ dexamethasone 4 มิลลิกรัม และยาปฏิชีวนะ นิยมใช้ piperacilin 1 กรัม เป็นยาตัวใหม่ ที่เป็นอนุพันธ์ของเพนนิซิลลิน ออกฤทธิ์กว้างคล้ายกับ carbenicillin และ ticarcillin แต่ออกฤทธิ์แรงกว่า 5-6 เท่า ใช้ขนาด 1 กรัม หรืออาจพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทนก็ได้ เช่น pennicillin ร่วมกับ streptomycin 1 กรัม หรือ chioramphenicol 1 กรัม เป็นต้น ในที่นี้จะเรียกว่า DDA มาจาก DMSO+Dexa+Antibiotic จะช่วยลดการอักเสบ การสร้างเคอราตินในการเกิดตาปลา และรักษาการติดเชื้อเฉพาะที่  ในกรณีการเกิดโรคหูดและตาปลาในคนแพทย์จะใช้ยาที่มีส่วนประกอบของ Fluorouracil, Salicylic acid และ Dimethylsulphoxide โดย flurouracil จะต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์หูดหรือตาปลา salicylic acid จะช่วยทำให้ผิวหนังที่มีปัญหาหยาบกระด้างมีความอ่อนนุ่ม ทำให้ตัวยาแทรกซึมเข้าดีขึ้น และ dimethysulphoxide จะช่วยละลายตัวยา ป้องกันการเจริญของตาปลาและลดการอักเสบ โดยใช้ป้ายบริเวณรอยโรค ควรระวังเนื้อเยื่อรอบข้างเพราะทำให้ผิวหนังไหม้ได้ ทาวันละ 2-3 ครั้ง ก่อนทาต้องทำความสะอาดรอยแผลเสียก่อน ในบางรายอาจจะต้องตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก และทำการรักษาโดยการป้ายยาต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ใช้เวลา 6 สัปดาห์ แต่ควรใช้ยาต่ออีก 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะเห็นผลการรักษา

 

ในรายที่รุนแรงมากพบเนื้อตาย ฝีและบวมมาก อาจจะพบอาการบวมที่ข้อเท้าและข้อเข่าร่วม เรียกว่าระดับ 4 ให้รักษาเช่นเดียวกับเกรด 3 จนกระทั่งการอักเสบและการติดเชื้อลดลง ค่อยพิจารณาทำการรักษาทางศัลยกรรม

 

ให้ทำการถ่ายภาพรังสีร่วมเพื่อประเมินการเกิดโพรงกระดูกอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งถือเป็นระดับ 5 จัดว่ารุนแรงและพยากรณ์โรคไว้ในระดับเลว

 

การรักษาทางศัลยกรรม

ให้ทำในระยะที่รอยโรคไม่อักเสบหรือมีอาการไม่รุนแรง แข็งตัว หรือหลังจากการรักษาทางอายุรกรรมในระยะของเกรด 3 ผิวหนังจะไม่บวม กดแล้วไม่แสดงอาการเจ็บ

แต่บางรายอาจไม่ต้องทำศัลยกรรมเลย การทำศัลยกรรมให้เปิดปากแผลโดยแคะเอาสะเก็ดสีดำออก ขูดเนื้อตายและชั้นที่มีลักษณะคล้ายตาปลาออกให้หมด ทำการกัดเกลื่อนด้วยโพวิโดน ไอโอดีน (povidone iodine) เจือจางในสารละลาย 1:100

ก่อนได้รับผลการทดสอบความไวของเชื้อต่อยา

ยาปฏิชีวนะที่สามารถให้เป็นเบื่งต้น เช่น

Enrofloxacin ขนาด 15 มิลลิกรัมต่อไก่หนัก 1 กิโลกรัม

กินหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้ออกวันละ 2 ครั้ง (นาน 5 วัน) หรือ

Piperacillin ขนาด 100 มิลลิกรัมต่อไก่หนัก 1 กิโลกรัม

ฉีดเข้ากล้ามเนื้ออก วันละ 2 ครั้ง (นาน 7 วัน) หรือ

Carbenicillin 100-200 มิลลิกรัมต่อไก่หนัก 1 กิโลกรัมล

กินหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้ออกหรือเส้นเลือด วันละ 2 ครั้ง (นาน7วันเป็นต้น)

แล้วจึงพิจารณาใช้ยาที่ไวต่อการรักษาทีหลังได้ แล้วทำการป้ายด้วยสารผสม DDA เพื่อลดการสร้างตาปลา การอักเสบ และป้องกันการติดเชื้อ หลังจากนั้นปิดทับด้วยผ้าก็อสที่ชุบด้วย povodone iodine อีกครั้ง ทำ ball bandage พันอุ้งตีนจะดีที่สุด และควรทำการเปลี่ยนผ้าพันแผล 1-2 ครั้งต่อวัน นาน2-4 วัน จนกระทั้งหายบวม ยาปฏิชีวนะควรฉีดต่อเนื่อง 7-10 วัน และหยุด DDA และผ้าก็อสชุบ povidone iodine เมื่อแผลหายบวม การทำ ball bandage ควรทำต่อเนื่อง 6-8 สัปดาห์ ซึ่งระยะการหายจะใช้เวลานาน 4-6 เดือน



บทความที่เกี่ยวข้อง
การหายของแผลในไก่ชน
โดย หมอพี (น.สพ. พงศ์ภัค พิทักษ์พล) และ อ.แก้ว (ผศ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล)
12 เม.ย. 2024
ไก่อาหารไม่ย่อย เกิดจากอะไร? บางสาเหตุที่ถูกมองข้าม!
โดย หมอสตางค์ (น.สพ.เสกฐชนม์ เพิ่มเยาว์) และ อ.แก้ว (ผศ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล) โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ ขอนแก่น
12 เม.ย. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy