แชร์

กิ้งก่ามีอาการบวมรอบดวงตา สัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นเป็นหรือไม่ เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร "Periorbital mass in reptiles"

อัพเดทล่าสุด: 20 เม.ย. 2024
150 ผู้เข้าชม

กิ้งก่ามีอาการบวมรอบดวงตา สัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นเป็นหรือไม่ เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

"Periorbital mass in reptiles"
โดย หมอฝน (สพ.ญ.กมลรัตน์ โพธิ์สุวรรณ)
โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ ขอนแก่น


อาการบวมรอบดวงตา เมื่อทำการประเมินแล้วมักจะพบเป็นรอบๆ บริเวณเปลือกตา ไม่ใช่ที่นัยน์ตาโดยตรง จึงไม่พบขนาดลูกนัยน์ตามีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่กิ้งก่าป่วยที่มาหานั้น เมื่อประเมินตอนแรกอาจเห็นเป็นคล้ายกับตาโปนและใหญ่กว่าปรกติ อาการนี้อาจเรียกรวมกันว่า periorbital mass พบในกิ้งก่าหลากหลายชนิด ได้แก่ อีกัวน่า คาเมเลี่ยน เบี้ยดดราก้อน ตะกอง ตุ๊กแกเสือดาว และพบมากเต่า ได้แก่ เต่าญี่ปุ่น และมากขึ้นในซูคาต้า โดยผู้เลี้ยงและสัตวแพทย์จะสังเกตพบการบวมที่เปลือกตาเป็นอาการสำคัญ แต่กลับพบว่าสร้างปัญหาได้ที่ไซนัส โพรงจมูก และยังเกิดได้กับผิวหนัง ปอด และเซลล์เยื่อบุของอวัยวะต่างๆ ทั้งทางเดินอาหาร ระบบปัสสาวะ ระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งเป็นมากกว่าที่เห็น
ปัญหาหลักของการเกิดปัญหาเกิดจากการขาดวิตามินเอ ซึ่งส่งผลให้เกิดผลกระทบทั้งร่างกาย ซึ่งสัตวแพทย์จะทำการแยกสาเหตุนี้กับการบาดเจ็บ การติดเชื้อ เนื้องอก โรคของนัยน์ตาโดยตรง หรือการจัดการที่ไม่ถูกหลักการเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน เมื่อทำการแยกปัญหาอื่นออกแล้วจะมาประเมินปัญหาการขาดวิตามินเอที่พบได้ง่ายในสัตว์เลื้อยคลาน โดยจะทำให้เกิดเปลือกตาบวมอักเสบ บางรายที่เกิดแบบเรื้อรังจะเป็นฝีมีหนองคล้ายเนย ระยะแรกอาจคล้ายมีน้ำตาไหลร่วมกับน้ำมูก แต่ต่อมาจะแข็งตึงต้องทำการนวดคลึงเพื่อให้หนองที่ข้นเป็นครีมนั้นค่อยๆทะลักออกมาจากเปลือกตา บางรายเกิดการอักเสบที่ไซนัส จะพบบริเวณใบหน้าบวมและเปลี่ยนสี เช่นเดียวกับเปลือกตาด้านที่เป็นจะบวมและเปลี่ยนสีคล้ำขึ้น บางรายมีผลกระทบต่อตาทำให้เกิดบวมแดงไปด้วย
ผลของการขาดวิตามินเอ ทำให้การพัฒนาของเยื่อบุผิวของอวัยวะต่างๆ เกิดการพัฒนาที่ผิดปรกติ หรือมีการปรับตัวของเซลล์เพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น โดยเปลี่ยนจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อชนิดหนึ่ง ไปเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่เจริญเต็มที่อีกชนิดหนึ่ง (multifocal squamous metaplasia) มักพบการหนาตัวขึ้นของเนื้อเยื่อนั้น และมีผลต่อเซลล์ที่กำลังเจริญเติบโต ในกิ้งก่าและเต่ามักจะไม่ทันสังเกตต่อความผิดปรกติที่เกี่ยวกับอวัยวะอื่นๆ เช่น ไขมันพอกตับและเหลืองเมื่อชันสูตรซาก กระดูกอ่อนและหัก ตาบอด ภูมิคุ้มกันต่ำ และโลหิตจาง เป็นต้น แต่มักจะพบผิวหนังหยาบกร้าน หนาตัวขึ้น ช่องปากอักเสบและหนาตัวเป็นฝ้าขาว ในรายที่รุนแรงและเรื้อรังจึงมักพบปอดอักเสบและมีการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือพบอาการไซนัสอักเสบเรื้อรัง พบเกิดเป็นเนื้อเยื่อพังผืดจนทำให้ใบหน้าและโพรงจมูกผิดรูปไปได้ และในกลุ่มผู้เลี้ยงอาจพบลูกสัตว์อ่อนแอ เจริญผิดปรกติ รูปร่างผิดปรกติ แคระแกร็น อัตราการตายสูง หรือแม่ไม่สามารถวางไข่ หรือผสมไม่ติด ล้วนเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ที่มองไม่เห็น เมื่อเกิดกับกิ้งก่าหรือเต่าตัวตัวหนึ่ง มักบ่งชี้ว่าเกิดได้ทั้งฝูง ในรายของเต่าญี่ปุ่นอาจพบการตายขณะทำการรักษาได้มากเพราะมีอาการของปอดอักเสบรุนแรง และยังพบในลูกเต่าทะเลที่ถูกนำมาเพาะฟักไข่เอง ที่เริ่มได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่แรก
ซึ่งเกิดจากปัญหาการให้อาหารเป็นหลัก จึงมักพบในคาเมเลี่ยน เบี้ยดดราก้อน ตุ๊กแกที่กินแต่พวกหนอนหรือแมลง ซึ่งจะขาดแคโรทีนอยด์และเรตินอล หรือกลุ่มสัตว์กินพืชที่ขาดแหล่งอาหารที่หลากหลาย ขาดแหล่งของวิตามินเอ วิตามินเอพบในไข่แดง ตับ เครื่องใน ในสัตว์ที่กินเนื้อที่กินเหยื่อทั้งตัวจึงมักไม่พบปัญหา แต่กลับพบปัญหามากในสัตว์เลื้อยคลานที่กินพืช และกลุ่มกินแมลง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น อย่างไรก็ตามในพืชจะมีสารแคโรทีนอยด์ ซึ่งได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม ผลไม้สีเหลืองและสีส้ม ขณะที่หนอนและแมลงมักจะขาดวิตามินเอ รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปในกลุ่มเต่าน้ำที่อาจเกิดการเสื่อมสลายของวิตามินเอได้ง่าย หรือทำมาจากปลาป่นที่ขาดวิตามินหลายชนิด จะพบเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับอาการขาดในเต่าญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังขึ้นกับแหล่งของวิตามินเอที่ใช้ในอาหารสำเร็จรูป ที่เหมาะสมควรเป็นสารเบตาแคโรทีนอยด์ ที่เป็นแหล่งวิตามินเอที่ปลอดภัย เพราะการได้รับวิตามินเอมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่ดีเช่นเดียวกัน จึงต้องใช้แคโรทีนอยด์ที่สามารถเปลี่ยนรูปไปเป็นวิตามินเอตามต้องการเท่านั้น แทนการเสริมวิตามินเอโดยตรง ที่พบจำหน่ายในประเทศไทยมีของ Exotic Nutrition สำหรับ Insectivore และอีกชนิดที่เสริมเบตาแคโรทีนอยด์ Randolph Insectivore Care เป็นต้น ใช้เสริมเพื่อทดแทนการขาดจากอาหารปรกติได้ ในสัตว์กินพืชให้ทำการเสริมด้วยผักและผลไม้สีเข้ม ทั้งเขียว ส้ม เหลือง หรือแดง หรืออาหารสำเร็จรูปที่มีแหล่งของเบตาแคโรทีนอยด์ เช่น Randolph กลุ่ม Herbivore Care หรือ Tortoise Care เป็นต้น ส่วนในเต่าทะเลที่นำมาเพาะเลี้ยงนั้น สามารถทำอาหารจากธรรมชาติขึ้นมาเองได้ โดยการผสมวิตามินและแร่ธาตุให้ถูกสูตรและครบถ้วน ซึ่งมีการวิจัยของทีมอาจารย์แก้วรองรับเมื่อหลายปีก่อน ส่วนสัตว์เลี้ยงเอกโซติกได้มีการพัฒนาไปพอสมควรทั้งการป้องกันและรักษา
การรักษาจะใช้เวลาแต่มักจะได้ผลในกรณีสัตว์ป่วยที่ยังไม่ได้เกิดความเสียหายกับการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น ปอดเกิดพังผืด ตับเสื่อมและเข็ง บางรายเกิดพังผืดหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทั้งทางเดินอาหารและช่องท้อง กรณีแบบนี้รักษาไม่หายแต่ไม่ได้ตาย ให้ระวังในสัตว์อายุน้อย แม้ว่าขณะที่ไปพบสัตวแพทย์จะมีเพียงอาการซึม น้ำมูกน้ำตาไหล เปลือกตาบวม เพราะมักเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อแทรกซ้อน การเจริญเติบโตที่ผิดปรกติ การไม่พัฒนาของเซลล์และเม็ดเลือดในร่างกาย มักพบการตายทั้งที่รักษาด้วยวิธีเดียวกัน เป็นต้น


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy