แชร์

คำถามจากเว็ป Epofclinic : รับลูกกระรอกมาค่ะตอนไปรับมาเจ้าของเก่าเค้าให้แลคตาซอยมาแต่ตอนแรกเค้าไม่ยอมบอกเลยให้กินนมเเพะ แต่ตอนนี้น้องท้องเสียควรทำยังไงดีคะที่นี่ห่างไกลจากร.พมากค่ะ

อัพเดทล่าสุด: 20 เม.ย. 2024
170 ผู้เข้าชม

คำถามจากเว็ป Epofclinic : รับลูกกระรอกมาค่ะตอนไปรับมาเจ้าของเก่าเค้าให้แลคตาซอยมาแต่ตอนแรกเค้าไม่ยอมบอกเลยให้กินนมเเพะ
แต่ตอนนี้น้องท้องเสียควรทำยังไงดีคะที่นี่ห่างไกลจากร.พมากค่ะ


ตอบโดย ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล
เป็นกรณีท้องเสียในลูกกระรอก ที่สงสัยว่ามาจากการใช้นมทดแทนหรือเกิดจากการเปลี่ยน
อ่านให้ครบนะครับ เพราะจะแจกแจงให้อ่าน


ข้อดีของนมแพะคือให้ระดับของโปรตีนและไขมันสูง ขณะที่น้ำตาลแลคโตสจะต่ำกว่านมวัวจึงลดความเสี่ยงต่อการแพ้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีแลคโตสนะครับ เมื่อเทียบน้ำตาลชนิดนี้กับโปรตีนและไขมันก็ยังพบว่าสูงกว่าอยู่ดี แต่ก็เสี่ยงน้อยกว่านมวัวที่มีแลคโตสสูงกว่า และในลูกกระรอกจึงมักจะมีอาการแพ้นมวัวหรือผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลแลคโตสสูง เพราะมีตัวน้ำย่อยแลคโตสไม่เพียงพอ คล้ายในลูกสัตว์หลายชนิด และรวมทั้งคนที่ไม่ได้ดื่มน้ำวัวนานๆ จะเกิดอาการท้องอืด หลังจากนั้นจะท้องเสียตามมาได้ นอกจากนี้การที่มีไขมันอยู่ในน้ำนม ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันสายกลางสูง จะเป็นตัวช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ดี คล้ายคุณสมบัติของน้ำนมแม่ที่พบในสัตว์ฟันแทะและกระต่าย ที่จะมีองค์ประกอบของไขมันและโปรตีนสูง ในนมวัวยังพบโปรตีนกลุ่มเคซีนสูง ขณะที่ในสัตว์ฟันแทะจะต่ำกว่า เป็นโปรตีนคนละจำพวกกับสัตว์ฟันแทะ แม้ว่าเคซีนจะเป็นแหล่งกรดอะมิโนของโปรตีนหลายชนิดและดี ก็อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การย่อยได้ไม่ดี เนื่องจากเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีคุณสมบัติน้ำนมของแม่ต่างกัน
นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำนมในกระรอกหรือกลุ่มฟันแทะด้วยกันจะยิ่งแตกต่างกันมากขึ้นไปอีก ที่ระดับโปรตีนและกรดไขมันจะสูงกว่าน้ำนมแพะและนมวัวมากๆ และน้ำตาลต่ำลงอีกตามสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นนมชนิดใดก็ต้องระมัดระวังอยู่ดี แต่ใกล้เคียงก็เสี่ยงน้อยลง และควรเลือกใช้น้ำนมทดแทนกับสัตว์ป่าหรือสัตว์ในสวนสัตว์โดยตรง ซึ่งมีอยู่หลายยี่ห้อที่ให้โปรตีนและกรดไขมันสูง และใกล้เคียงกว่านมแพะด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนมชนิดไหนที่ไม่ใช่นมจากแม่แท้ๆ ย่อมต่างคุณสมบัติกัน และเสี่ยงต่อการเกิดท้องเสีย และเมื่อมีการเปลี่ยนอาหารอย่างทันทีทันใดก็จะเสี่ยงต่อการย่อยไม่ได้ ไม่คุ้นเคยกับสารอาหารที่แตกต่างกัน ทั้งชนิดของโปรตีน กรดไขมันสายกลาง และน้ำตาลแลคโตส การเปลี่ยนน้ำนมหรืออาหารจึงต้องทำการเปลี่ยนแบบช้าๆเพื่อให้สัตว์เริ่มมีการพัฒนาและสร้างน้ำย่อยชนิดอื่นๆที่เหมาะสมกับน้ำนมชนิดใหม่มากขึ้น
และเมื่อเทียบกับแลตตาซอยที่เป็นนมถั่วเหลือง ยิ่งไม่มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกันเลย แม้ว่าจะเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี แต่เพราะเป็นไขมันจากพืชและไม่ใช่สายมันสายกลางเหมือนน้ำนมแม่ที่นำไปเลี้ยง มีส่วนผสมของน้ำนมวัว และอาจมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบในปริมาณมากในบางสูตร แม้ว่าสัตว์จะมีการปรับตัวได้ในการนำไปใช้ได้ในบางราย แต่คุณสมบัตินั้นไม่เหมาะสมเมื่อเทียบกับน้ำนมแม่ ซึ่งมีไขมันสายกลางและช่วยเรื่องป้องกันเชื้อโรคได้ดี และเพราะคุณสมบัติที่แตกต่างกันของน้ำนม เมื่อทำการเปลี่ยนนมย่อมมีผลทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวหรือท้องเสีย หรืออาหารไม่ย่อย แม้ว่าบางรายจะท้องอืดเท่านั้น
จึงมีความเสี่ยงมากสำหรับลูกสัตว์ที่ยังไม่หย่านม และเกิดอาการท้องเสียจากอาหาร สิ่งที่ต้องทำการแก้ไขที่สามารถทำได้เองคือการงดการให้นมทดแทนนั้นๆ และประเมินอาการสัตว์ เช่น ยังท้องเสียต่อเนื่องและเกิดภาวะขาดน้ำ ในกรณีนี้จำเป็นต้องไปหมอละครับ เพราะโอกาสตายสูง แต่หากพบว่าเมื่องดนมชนิดนั้นๆแล้วเริ่มดีขึ้น เริ่มกลับไปป้อนนมชนิดเดิมและค่อยผสมกับนมชนิดใหม่ที่ดีกว่าทีละน้อย และปรับปริมาตรเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นนมที่ดีจะค่อยๆตอบสนอง แต่เมื่อใช้แล้วก็เกิดท้องเสียทุกๆครั้ง ควรเปลี่ยนชนิดของนมทดแทนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรไปทำการตรวจเพราะน้ำนมส่วนใหญ่มีความเป็นด่าง จะแตกต่างจากน้ำนมแม่ที่มีกรดไขมันอิสระ กรดเหล่านี้จะป้องกันเชื้อโรค แต่น้ำนมที่เป็นด่างจะเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อที่ดีและเชื้อก่อโรคมักจะชอบความเป็นด่าง จึงเสี่ยงที่จะประเมินว่าเป็นแค่อาการแพ้นม แต่เป็นการติดเชื้อแทรกซ้อนเมื่อมีการใช้นมทดแทน และเสี่ยงให้เกิดลำไส้อักเสบตามมา และตายได้อย่างรวดเร็ว มักจะถ่ายเหลวรุนแรงเป็นมูกปน รวมทั้งบางตัวมีการติดเชื้อมาตั้งแต่แม่แล้ว อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับน้ำนมแต่เป็นเพราะติดเชื้ออยู่แล้ว ก็เกิดขึ้นได้


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy