แชร์

ภัยร้ายใกล้ตัวที่ควรทำความรู้จัก โรคติดต่อจากนกเลี้ยงสู่คนไข้นกแก้ว(Psittacosis)

อัพเดทล่าสุด: 20 เม.ย. 2024
143 ผู้เข้าชม

ภัยร้ายใกล้ตัวที่ควรทำความรู้จัก
โรคติดต่อจากนกเลี้ยงสู่คนไข้นกแก้ว(Psittacosis)
โดย สพ.ญ. ศุภวรรณ ไตรพินิจกุล


ไข้นกแก้วมีความสำคัญอย่างไร ?
ในปัจจุบันมีความนิยมเลี้ยงนกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มของนกแก้ว เนื่องจากความสวยงาม เพลิดเพลิน และพบว่าความแสนรู้ของพวกเขาทำให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้เลี้ยงเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามพบว่ามีโรคจากนกสู่คนมากมาย นอกจากนี้ยังพบว่าติดต่อไปยังกลุ่มนกด้วยกันเอง โดยเฉพาะโรคไข้นกแก้ว (Parrot fever) หรือ ซิทตาโคซิส (Psittacosis) และยังรู้จักในชื่อ คลามัยเดีย (Avian chlamydiosis) ทำให้เจ้าของผู้เลี้ยงนกควรมีความตระหนักถึงการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ และมีการป้องกันที่เหมาะสมก่อนนำนกเข้ามาเลี้ยงในครัวเรือน


รู้หรือไม่ว่าไข้นกแก้วแท้จริงแล้วเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ?
เชื้อก่อโรคคือแบคทีเรียที่สามารถเพิ่มจำนวนได้เฉพาะเมื่ออยู่ภายในเซลล์สิ่งมีชีวิต แกรมลบ ชื่อ Chlamydia psittaci ปัจจุบันพบ 9 จีโนไทป์ แบ่งเป็น 7 จีโนไทป์พบในสัตว์ปีก และ 2 จีโนไทป์พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ A และ F เกิดโรคในนกแก้ว โดย A พบมากในกลุ่ม Psittacine birds และ F ในกลุ่ม Parakeet B เกิดโรคในนกพิราบ C เกิดโรคในเป็ดและห่าน D ในไก่งวง E ในพิราบ เป็ด และนกจำพวก Ratite E/B ในเป็ด ไก่งวง และนกพิราบ ส่วน M56 เกิดโรคในพวกกลุ่มสัตว์ฟันแทะ และ WC พบในวัว


รายงานการระบาดของไข้นกแก้วที่พบ?
การระบาดของไข้นกแก้วพบรายงานในประเทศ แมกซิโก, สหรัฐอเมริกา, คอสตา ริก้า, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, ไตหวัน, อิหร่าน, อียิปต์, เนเธอแลนด์, บราซิล, ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย ในนกแก้วพบความชุกตั้งแต่ 3.4%- 93% (Sheleby et al., 2013; Dusek et al., 2018) ส่วนในประเทศไทย มีรายงานการระบาดมาตั้งแต่ปี 1996 (Riantawan and Nunthapisud, 1996) และในปี 2015 พบความชุก ประมาณ 10.8% ในนกพิราบที่ไม่แสดงอาการ (Sariya et al., 2015) ปี2016 พบในกลุ่มนกแก้ว ประมาณ 7.87% (Suksai et al., 2016) ความชุกของโรคสันนิฐานว่ายังสามารถพบได้อยู่ เนื่องจากแนวโน้มในการนำเข้าและส่งออกนกมายังประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น (Furnell, 2019) นอกจากนี้การแพร่กระจายเชื้อสู่ธรรมชาติยังมีวงจรที่ยาวนาน


ดังนั้นการตรวจหาโรคด้วยวิธีการที่เหมาะสมจึงควรตระหนักในกลุ่มผู้เลี้ยงนก สัตวแพทย์ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนกทุกๆท่าน


- วงจรชีวิตของเชื้อ

คลามัยเดียมีความแตกต่างจากแบคทีเรียทั่วๆไป
พวกมันมีรูปร่างได้ 2 แบบ ดังนี้
แบบที่ 1 เรียกว่า Elementary body มีขนาดเล็ก ประมาณ 0.2-0.3 ไมโครเมตร ผนังเมมเบรนแข็งแรงทำให้เชื้อคงทนต่อสภาพแวดล้อม เป็นระยะที่เชื้อมีการติดต่อไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่น (Host cell)
แบบที่ 2 เรียกว่า Reticulate body หรือ initial body มีขนาดใหญ่ประมาณ 0.5-2 ไมโครเมตร ผนังบาง
ไม่ทนต่อสิ่งแวดล้อม พบอยู่ในเซลล์เท่านั้น เป็นระยะที่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ (Binary division)


กลไกการเพิ่มจำนวนและก่อโรคของเชื้อคลามัยเดีย มี 5 ระยะ
1. ระยะเข้าสู่เซลล์ โดยเชื้อในรูป Elementary body ยึดเกาะกับผิวเซลล์และเข้าสู่เซลล์ โดยวิธี endocytosis
2. เมื่อเข้าสู่เซลล์แล้วพบว่า Elementary body จะเปลี่ยนรูปไปเป็น Reticulate body โดยใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อให้เชื้ออยู่ในสภาพ Active ในระยะท้าย Reticulate body จะเริ่มทำการเพิ่มจำนวน โดยวิธี Binary fission ทำให้ได้เชื้อใหม่ เพิ่มขึ้นอาจจะมากถึง 100-500 ตัว
3. ระยะนี้ endosome จะขยายใหญ่เห็นเป็น Inclusion body ภายในไซโตพลาสซึมได้
4. ระยะแปลงร่างกลับจาก Reticulate body เป็น Elementary body ซึ่งจะเกิดภายใน24-48 ชั่วโมงหลังติดเชื้อ นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อย้อมด้วยสียิม ทำให้พบการติดสีชัดเจนที่ Inclusion body ในเซลล์ที่ติดเชื้ออีกด้วย
5. ระยะปลดปล่อย Elementary body ออกมาภายนอกเซลล์ จะเกิดขึ้นภายใน 48-72ชั่วโมง โดยเชื้อที่หลุดออกมาเป็นระยะติดต่อเข้าไปยังเซลล์อื่นต่อไป (Morais et al., 2013)


อาการของนกเมื่อป่วยจากการติดเชื้อไข้นกแก้วเป็นอย่างไร ?
การติดเชื้อไข้นกแก้ว เป็นการติดเชื้อแบบทั่วร่างกายและมีความรุนเรงถึงชีวิตได้โดยความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงที่เคยมีการศึกษามา ได้แก่ สายพันธุ์, สัตว์ปีกที่ติดเชื้อ, อายุ, ปริมาณเชื้อที่ได้รับ, ความเครียดและสิ่งแวดล้อม


อาการที่พบมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการ แสดงอาการน้อยไปจนถึงรุนแรง โดยปรากฏอาการทั่วไปไม่จำเพาะ เช่น เบื่ออาหาร (Anorexia), อ่อนแรง (Lethargy), ขนยุ่งฟู (Ruffled feather), มีน้ำมูกน้ำตา (Serous or mucopulurent oculonasal discharge), ตับโต (Hepatomegaly) และน้ำหนักลดลง (Weight loss)


อาการทางเดินหายใจ (Respiratory symptoms) ที่พบมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ จาม (Sneezing), หายใจลำบาก (respiratory distress), ไซนัสบวม (Swollen sinuses) เป็นต้น ส่วนอาการทางเดินอาหาร (Gastrointestinal symptoms) ที่พบได้แก่ ท้องเสีย ร่วมกับอุจจาระสีเขียวอ่อน (Diarrhea with green to yellowish dropping) พบภาวะปัสสาวะมากกว่าปกติ (Polyuria) นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบอาการทางประสาท (Neurological symptoms) ได้แก่ คอบิด (Torticollis), หลังแอ่น (opisthotonos), สั่นไหว (tremor), ชักเกร็ง (Convulsion), อัมพาตของขา (Flaccid paralysis) สามารถพบได้ โดยเฉพาะในกรณีเคสที่เป็นมาระยะเวลานาน (Chronic case) (Spicker, 2017)
รอยโรคที่พบส่วนใหญ่ปรากฏใน 3 อวัยวะหลัก ได้แก่ ม้าม, ตับ, และถุงลม นอกจากนี้ยังอาจพบวิการที่ลำไส้,ไต และการบาดเจ็บในอวัยวะอื่นที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย (Morais et al., 2013)


การติดต่อของเชื้อไข้นกแก้วมาสู่คนรุนแรงขนาดไหน ?
การติดเชื้อในคนพบว่าติดจากนกไปสู่คน (Zoonosis) โดยผ่านทางการหายใจเอาเชื้อที่ขับออกมากับปัสสาวะ,อุจจาระหรือสิ่งคัดหลั่งที่มีการปนเปื้อนกับเนื้อเยื่องของนกที่ติดเชื้อ (Mina et al., 2019) อาการที่พบในคนโดยปกติจะคล้ายอาการเป็นไข้ (Influenza like symptoms) แต่สามารถนำไปสู่อาการปอดอักเสบรุนแรง (Severe pneumonia) บางรายพบว่าทำให้เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Endocarditis) กล้ามเนื้อหัวใจ อักเสบ (Myocarditis) สมองอักเสบ (Encephalitis) ไตทำงานผิดปกติ (Renal insufficiency) และมีรายงานเป็นส่วนน้อยว่าเกิดภาวะแท้งบุตรในรายที่มีการตั้งครรภ์อีกด้วย (Fetal death) (De Boeck et al., 2016)


จะตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันโรคไข้นกแก้ววิธีไหนดีที่สุด ?
การตรวจวินิจฉัยเชื้อแบคทีเรียจำเป็นต้องมีการพิสูจน์เชื้อผ่านทางห้องปฏิบัติการจึงจะให้ผลตรวจรับรองที่เชื่อถือได้ (Laboratory diagnostic) ได้แก่
การตรวจทางซีรัมวิทยา (Serological test)
ได้แก่ วิธี Complement fixation test (CFT), Elementary body agglutination (EBA) Enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) และ Micro-indirect immunofluorescence (MIF) วิธีเหล่านี้ไม่สามารถบอกระยะของการติดเชื้อที่แน่นอนได้ เนื่องจากหากสัตว์พึ่งติดเชื้อจะส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน อาจทำให้ไม่ได้ผลบวกต่อการทดสอบ OIE (2018)
การตรวจทางพยาธิวิทยาโดยการตัดเนื้อเยื่อและย้อมสี (Direct visualization)
ได้แก่ การย้อมสี Giemsa, Gimenez, Ziel-Neelsen และ Macchiavello เพื่อดู Inclusion body ภายในเซลล์ ซึ่งมักจะทำในนกที่มีการผ่าซากเพื่อชันสูตร (Morais et al., 2013)
การเพาะเลี้ยงและเพิ่มจำนวนเซลล์ (Isolation in cell culture)
การเพาะแยกเชื้อคลามัยเดีย ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิด Obligate intracellular จึงต้องเพาะใน Tissue culture หรือไข่ไก่ฟัก ดังนั้นห้องปฏิบัติการต้องมีความพร้อม และเรื่องอุปกรณ์ การปราศจากการปนเปื้อนรวมไปถึงมีความชำนาญเฉพาะ นอกจากนี้ยังพบว่าการเพาะแยกเชื้อมักไม่ประสบผลสำเร็จในนกที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะมาแล้วก่อนหน้านี้ (Morais et al., 2013)


การตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ (Nucleic acid หรือ antigen)
ได้แก่ วิธี Immunohistochemistry, DNA microarray, Polymerase Chain Reaction (PCR), โดยในปัจจุบันพบว่าการตรวจหาแอนติเจนหรือการตรวจในระดับโมเลกุลเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อ(Molecular technique) ด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส Polymerase Chain Reaction (PCR) ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากให้ผลที่จำเจาะและมีความไวสูง (Mina et al., 2019) และยังตรวจหาได้ง่ายในนกมีชีวิต เนื่องจากตัวอย่างมีความเหมาะสมในการเก็บจากนก เช่นสวอปจากปาก หรือก้นเพื่อเก็บสิ่งคัดหลั่ง และอุจจาระตามลำดับ ทำการแช่เย็นและหรือส่งห้องปฏิบัติการได้ในทันที
เพราะเช่นนี้แล้วการตรวจด้วยเทคนิค Convetional PCR รวมไปถึงเทคนิคขั้นสูงที่เพิ่มความไวและความจำเพาะ ยกตัวอย่างเช่น Nested PCR, RT-PCR จึงมีความสำคัญที่จะช่วยคัดกรองโรคที่อาจจะแฝงมากับนกของท่าน ป้องกันทั้งตัวนกอื่นๆและการติดต่อมาสู่ผู้เลี้ยง และนอกจากนั้นยังทำให้การวินิจฉัยโรคทางคลินิคเป็นไปด้วยความรวดเร็ว คุณหมอจะสามารถวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพและพยากรณ์โรคที่แม่นยำได้


หากพบว่านกของท่านติดเชื้อแล้วคุณหมอมีแนวทางรักษาอย่างไร ?
การรักษาโรคไข้นกแก้วสามารถใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม เตตราซัยคลิน (Tetracycline) ซึ่งเป็น Drug of choice ได้แก่ Doxycycline พบว่าให้ผลต่อเชื้อค่อนข้างไว เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ไปจนถึง 7 สัปดาห์ (Morais et al., 2013) นอกจากนี้ยังสามารถใช้ยาตัวอื่น เช่น Enrofloxacin, Azithromycin ได้ด้วย การพยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อาจจะได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ส่วนการป้องกันสามารถทำได้โดยกักโรคนกที่เข้ามาใหม่จากตัวอื่นๆ หรือทำการตรวจคัดกรองโรคกับสัตวแพทย์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสที่ใกล้ชิด หรือสวมผ้าปิดปากและถุงมือในการทำความสะอาดกรงนก หมั่นสังเกตอาการป่วย หรือหากมีการตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรแยกหรือทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมและภาชนะที่ปนเปื้อนเชื้อโดยใช้ น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของ Quaternary ammonium compound, H_2 O_2 (Hydrogen peroxide), 70% Alchohol, น้ำยาซักผ้าขาว ไฮเตอร์ รวมไปถึง น้ำยาที่มีส่วนประกอบ Aldehyde เช่น Formaldehyde, Glutaraldehyde (Spicker, 2017)


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy