แชร์

อัลฟัลฟ่าอันตรายจริงหรือ และวิธีการกินอัลฟัลฟ่าในช่วงที่เป็นกระต่ายโต

อัพเดทล่าสุด: 24 พ.ค. 2024
220 ผู้เข้าชม

อัลฟัลฟ่าอันตรายจริงหรือ และวิธีการกินอัลฟัลฟ่าในช่วงที่เป็นกระต่ายโต
ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล


เพราะกระต่ายเลี้ยงจะมีปัญหามวลกระดูกบาง ไม่แข็งแรง และหักง่าย หรือมีผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัตราเจริญต่ำ ฟันอ่อนแอและเกิดการเจริญของเคลือบฟันต่ำ เพราะการขาดแคลเซียมจากอาหาร เราเองก็มีความพยายามและอยากเสริมแคลเซียม แต่ไม่กล้าให้อัลฟัลฟ่าหรือแคลเซียมจากแหล่งอื่นๆ เพราะกลัวจะทำให้เกิดนิ่วหรือปัสสาวะขุ่น ยิ่งหมอหรือการสื่อสารรอบข้างเตือนกันมากให้ระวัง ทั้งเข้าใจถูกและผิด แล้วจะทำกันอย่างไร


แหล่งของแคลเซียมที่ดีและปลอดภัยคือ อัลฟัลฟ่า และมีการใช้อาหารเม็ดที่มีเยื่อใยอาหารสูงก็ถือว่าใช้ได้ แต่ต้องกินในปริมาณจำกัด และอาหารเม็ดมักผลิตให้มีแคลเซียมต่ำตามสูตรของ NRC ซึ่งปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ
หญ้าแห้งส่วนใหญ่จะมีแคลเซียมสะสมร้อยละ 0.28-0.75 ขณะที่อัลฟัลฟ่ามีมากกว่าที่ร้อยละ 1-4.39 อาหารเม็ดส่วนใหญ่จะมีแคลเซียมไม่เกินร้อยละ 1 ขณะที่กระต่ายต้องการแคลเซียมจากอาหารประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 2.5 กิโลกรัม (200 มก/กก) ในกระต่ายโตเต็มวัย ที่ไม่ตั้งท้องเลี้ยงลูก (RDA) ถ้าเป็นช่วงผสมพันธุ์ ตั้งท้อง เลี้ยงลูกต้องเพิ่ม 2-5 เท่า บางรายงานกล่าวว่าอาหารควรมีระดับของแคลเซียมร้อยละ 0.22 กรัม หรือ 220 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 100 กรัม สำหรับภาวะสมดุล นั่นหมายถึงกระต่ายหนัก 1 กิโลกรัมต้องกินอาหารเม็ดถึง 100 กรัม แต่หากต้องการเพิ่มระดับแคลเซียมในกระดูกและเพิ่มอัตราเจริญเติบโต ในอาหารควรมีแคลเซียม 350-400 มิลลิกรัมกรัมต่ออาหาร 100 กรัม


ขณะที่อาหารเม็ดที่เหมาะสม (เยื่อใยอาหารสูง) จะแนะนำให้เพียงวัน 20-40 กรัม (ประมาณ 2-4 ช้อนโต๊ะ) เฉลี่ย 25 กรัม ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม (RSPCA) ซึ่งจะได้รับแคลเซียมจากอาหารเม็ดประมาณ 0.25 กรัม (250 มิลลิกรัม) ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการแคลเซียม ในกระต่ายหนักหนึ่งกิโลกรัม แต่อาหารเม็ดส่วนใหญ่ใส่แคลเซียมในสูตรระดับที่ต่ำ หรือเพียงร้อยละ 0.2 (เลียนแบบหญ้า) เท่ากับการให้อาหารเม็ดที่ปริมาณเท่ากัน จะขาดแคลเซียมอยู่ 4 ใน 5 ส่วน ถ้าจะเลือกใช้อาหารเม็ดเสริมก็ต้องเป็นกลุ่มอาหารเม็ดที่กินแทนหญ้าได้มากขึ้น คือในระดับ 80 กรัมขึ้นไปต่อวันในกระต่ายหนัก 1 กิโลกรัม (ร่วมกับการกินหญ้า เพราะในหญ้ามีแคลเซียมอยู่) ซึ่งอาหารเม็ดบางชนิดสามารถทำได้ ผลิตมาเพื่อทดแทนหญ้าด้วยเยื่อใยจากหญ้าและมีระดับสูง และใส่แคลเซียมตามหลักการใหม่ที่ร้อยละ 0.6-1 (ideal diet) แต่ยังเกิดปัญหาเรื่องการช่วยสึกของฟันได้
หญ้าแห้งก็มีระดับแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาหารเม็ดบางชนิดมีระดับแคลเซียมที่ดีแต่ยังต้องกินในปริมาณจำกัดอัลฟัลฟ่าจึงเป็นทางเลือกหลักในการ แต่จะใช้เสริมอย่างไรและเมื่อไรควรเสริมหรืองด?
การเสริมอัลฟัลฟ่าทุกวัน และการเสริมเป็นระยะๆ ทำอย่างไร


ตามธรรมชาติที่กระต่ายเลือกกินได้ จะพบการกินพืชหลากหลาย จึงมักไม่พบการเกิดการขาดแคลเซียม รวมทั้งโอกาสการได้รับวิตามินดี เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสมดุลแคลเซียม ลองอ่านบทความเรื่องแคลเซียมที่เคยเขียนให้ได้อ่านไปกันก่อนหน้านี้


เอกสารจำนวนมากมายจะเขียนตามๆกันไปและสัตวแพทย์ก็มักจะสื่อสารทางเดียวกันให้งดการใช้อัลฟัลฟ่าพอเป็นกระต่ายโต แต่แท้จริงใช้เสริมได้และจำเป็นมากขึ้นในระยะตั้งท้อง เลี้ยงลูกและช่วงเจริญเติบโต รวมทั้งตัวที่มัปัญหาฟันไม่พัฒนา หรือพบกระดูกบางจากการเอกซเรย์แล้ว (osteopenic vertebral compression) ในกระต่ายเลี้ยงในอเมริกาพบรายงานให้พืชที่มีสัดส่วน ดังนี้ อัลฟัลฟ่าร้อยละ 32 ต่อหญ้าแห้งร้อยละ 15 ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหลักการนี้ยังขาดเหตุผลรองรับ เว้นแต่นำไปใช้ผลิตสูตรอาหาร เพราะมีวัตถุดิบชนิดอื่นร่วมด้วย หรือมีสัดส่วนของหญ้าและอัลฟัลฟ่าเกินร้อยละ 50 เมื่อนำมาใช้เป็นอาหารเม็ดก็ต้องจำกัดการกินเพราะจะได้รับแป้งมากกว่าระดับที่เหมาะสม โดยหากจะประเมินกันให้ตามปริมาณแคลเซียมที่มีในอัลฟัลฟ่า พบว่าในแต่ละวันสามารถเสริมอัลฟัลฟ่าเพื่อเสริมแคลเซียมโดยตรงที่วันละ 20 กรัม (หรือเสริม alfalfa pellets 2 ช้อนโต๊ะหรือสแน็คอัลฟัลฟ่า 1-2 ชิ้น) จะได้แคลเซียมประมาณ 0.2 กรัม (200 มิลลิกรัม) ต่อกระต่ายหนักหนึ่งกิโลกรัม หรือ 500-600 มิลลิกรัมต่อกระต่าย 2.5 กิโลกรัม (500 มก/2.5กก) และเพิ่มขึ้น 2-5 เท่าในช่วงผสมพันธุ์ ตั้งท้อง และเลี้ยงลูก และให้หญ้าเป็นอาหารหลักตามปกติ


หรือพิจารณาให้เป็นช่วงๆ เหมือนของกินเล่น เช่น เสริมปริมาณมากขึ้น ทุก 2-3 วัน หรือสัปดาห์ละครั้งในปริมาณมาก เป็นการเสริมได้ทั้งโปรตีน แคลเซียม และส่งเสริมความสุข อาจให้โดยใช้อัลฟัลฟ่าโดยตรง หรือสแน็คที่ทำมาจากอัลฟัลฟ่าก็ช่วยส่งเสริมความน่ากินและความสุขได้มากขึ้น


ข้อสังเกต มากหรือน้อยเกินไป ต้องทำงานร่วมกันระหว่างสัตวแพทย์และผู้เลี้ยง แม้ว่าจะแก้ไขภาวะ osteopenic vertebral compression ไม่ได้ แต่ทำให้กระดูกลดปัญหามวลกระดูกบางและแข็งแรงขึ้นได้ ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำเสริมต่อวันอาจไม่เพียงพอในบางรายหรือมากเกินไปในบางราย ให้ประเมินจากความแข็งแรงของกระดูกจากภาพเอกซเรย์ หรือชะลอความเสื่อมของกระดูกจากเดิมได้ แม้ว่าจะมีการตรวจความแข็งแรงของกระดูกที่แม่นยำกว่านี้ในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่สามารถมาใช้ได้จริงในคลินิก การตรวจเลือดวัดค่าระดับแคลเซียมในเลือดอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดแต่ทำได้ และมักจะพบปกติในระดับ 2.2-3.0 mmol/l บางรายงานสูงถึง 3.25-3.75 และสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นอย่างมาก (ชนิดอื่น 1.25-1.6 mmol/l) และหากในปริมาณที่สูงเกินไปจะพบปัสสาวะขุ่น (bladder sludge) ให้ประเมินการกินน้ำต่อวัน ซึ่งสัมพันธ์กับการกินน้ำน้อยมากกว่าการได้รับแคลเซียมมากเกินไป กระต่ายควรได้รับน้ำวันละ 50-150 ซีซีต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม จะช่วยป้องกันการเกิดนิ่วได้ ซึ่งได้รับการยอมรับกันมากขึ้นว่าเป็นปัญหาสำคัญ แต่ถ้าได้รับน้ำสมบูรณ์แล้วยังพบปัสสาวะขุ่น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากได้รับแคลเซียมมากเกินไปจริง ให้ทำการงดการใช้อัลฟัลฟ่าจนเห็นว่าปัสสาวะกลับมาใสเป็นปกติ และค่อยเริ่มปรับขนาดการกินและสังเกตกันอีกรอบจนกระทั่งสู่สมดุล เพราะแคลเซียมไม่เสริมก็ไม่ได้


ในกรณีเกิดนิ่วและปัสสาวะขุ่น ซึ่งทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และไตได้รับบาดเจ็บได้ มักจะเกิดในกระต่ายในช่วงอายุ 3-5 ปี มักเกิดจากได้รับน้ำไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกายหรือกิจกรรม อ้วน โรคไต และการได้รับอาหารที่มีแคลเซียมสูง และอัลฟัลฟ่าก็มักจะเป็นนักโทษหรือแพะรับบาป โดยชนิดนิ่วที่พบบ่อย 3 ชนิดในกระต่ายจะเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ทั้งโมโนไฮเดรตและแอนไฮดรัส และอีกชนิด คือ แอมโมเนียม แมกนีเซียม ฟอสเฟต ขณะที่ชนิดแคลเซียมในอัลฟัลฟ่าเป็นแคลเซียมออกซาเลตถึงร้อยละ 20-33 และเป็นปัญหาที่พบรองลงมาจากนิ่วชนิดอื่น และบางรายงานกล่าวว่าแคลเซียมออกซาเลตที่พบได้ในพืชผัก และอัลฟัลฟ่า ไม่สามารถเมตาบอลิซึมโดยกระต่าย จึงไม่สามารถทำให้เกิดตะกอนและนิ่วในระบบปัสสาวะ (Johnson, 2009) แต่หลายรายงานพบว่ามีความสัมพันธ์กับปริมาณแคลเซียมที่เพิ่มขึ้นในกระแสเลือด ทั้งการดูดซึมและการขับทิ้ง และแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งเป็นตัวสร้างนิ่วและปัสสาวะขุ่นส่วนใหญ่พบในอาหารเม็ด แต่เราก็มักจะไม่ได้ให้อาหารเม็ดกันมากอยู่แล้ว


จากข้อมูลดังกล่าว จึงเห็นว่าอัลฟัลฟ่าเป็นแหล่งแคลเซียมตามธรรมชาติที่ปลอดภัยเมื่อทำการเสริมในปริมาณที่เหมาะสม และควรระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่ทำให้เกิดนิ่วหรือปัสสาวะขุ่นได้มากกว่า


#กระต่าย #รักษากระต่าย
#กระต่ายขาดแคลเซียม
#นิ่วและปัสสาวะขุ่นในกระต่าย
#การดูแลกระต่าย
#สัตว์Exotic
#โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ
#EPOFCLINIC


บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาวะกรดในร่างกายจาก metabolic acidosis ที่เกิดจากภาวะลำไส้อืดในกระต่าย และแนวทางแก้ไข
โดย สพ.ญ.ศุภวัลย์ ศรีวิเศษ (หมอบุษ) และ ผศ.น.สพ.ดร. สมโภชน์ วีระกุล (อาจารย์แก้ว)
24 พ.ค. 2024
"ภาวะทองแดง (cryptorchidism)"
โดย สพ.ญ. ธันยลักษณ์ จะวะนะ (หมอน้อยหน่า)โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ
24 พ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy