น้ำนมแมวเลี้ยงเทียบกับน้ำนมแมวป่า: เลี้ยงแมวป่าอย่างไรดี
น้ำนมแมวเลี้ยงเทียบกับน้ำนมแมวป่า: เลี้ยงแมวป่าอย่างไรดี
โดย ผศ.น.สพ.ดร. สมโภชน์ วีระกุล
รายงานที่เกี่ยวกับน้ำนมของแม่แมวมีค่อนข้างมาก จึงหยิบบางรายงานมากล่าว ซึ่งอาจเป็นตัวแทนทั้งหมดไม่ได้ Adkins และคณะ (1997) ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติน้ำนมของแม่แมวสายพันธุ์ชอตแฮร์ (domestic shorthair) โดยการนำน้ำนมที่เก็บได้ในวันที่ 1, 3, 7, 14, 28 และ 42 หลังคลอดลูกไปวิเคราะห์ พบว่าระดับโปรตีนอยู่ระหว่างร้อยละ 6.3 ถึง 8.6 โดยพบสูงทั้งในนมน้ำเหลืองและนมทั่วไปในระยะหลัง มีสารประกอบไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีนที่ร้อยละ 8 โดยมีสัดส่วนระหว่างเวย์ต่อเคซีนประมาณ 50:50 ไขมันร้อยละ 9.3 ในนมน้ำเหลืองช่วงแรก และลดลงลงอย่างรวดเร็ว และพบเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9 อีกครั้งในน้ำนมทั่วไป มีระดับน้ำตาลแลคโตสที่ร้อยละ 4 นมน้ำเหลืองและนมช่วงแรกๆ จะให้ระดับของแคลเซียมไม่สูง แต่จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา โดยช่วงแรกจะพบอัตราส่วนต่อฟอสฟอรัสที่ 0.4-0.9 ต่อมาเปลี่ยนเป็น 1.0:1.2 อีกรายงานหนึ่งของ Jacopsen และคณะ (2004) พบผลการศึกษาใกล้เคียงกัน โดยทำการเก็บน้ำนมทุกสัปดาห์ นาน 6 สัปดาห์ โดยมีระดับโปรตีนที่ร้อยละ 8.7 ไขมันร้อยละ 12.7 แลคโตสร้อยละ 4.2 และพบว่าโปรตีนจะสูงขึ้นตามระยะเวลา ขณะที่ไขมันจะสูงขึ้นในแม่แมวที่ได้รับอาหารที่มีไขมันสูงเท่านั้น อีกการศึกษาหนึ่งได้กล่าวถึงส่วนแร่ธาตุ พบว่าในช่วง 1-2 วันแรกจะต่ำและเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ได้แก่ iron, copper, zinc และ manganese และลดลงในช่วงวันที่ 8 อีกครั้ง (Keen et al., 1982) และรายงานนี้ยังพบระดับสารอาหารอื่นๆ ต่ำ โดยพบระดับโปรตีนร้อยละ 4-7 ไขมันร้อยละ 3-5 และคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 4 ซึ่งต่ำกว่ารายงานอื่น ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะขึ้นกับระดับของสารอาหารที่ใช้เลี้ยงแม่แมวในช่วงตั้งท้องและเลี้ยงลูกได้ (Jacobsen et al., 2004) ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยในการใช้เลือกน้ำนมทดแทนสำหรับผู้เลี้ยงแมวทั่วไปได้ และประยุกต์มาใช้ในแมวป่าหรือเสือได้หรือไม่?
เปรียบเทียบกับน้ำนมของเซอวัล (Serval: Felis serval) โดยพบว่ามีระดับโปรตีนที่ 158.3+/-44.4 g ต่อน้ำนมหนึ่งกิโลกรัม (15.8%) ไขมัน 152.6+/-62.3 g/Kg milk (15.2%) และแลคโตส 68.7+/-31.4 g/Kg milk (6.8%) ในโปรตีนจะพบเคซีนในปริมาณสูงที่ 117.7+/-44.8 g/Kg milk และลดลงในกลุ่มเวย์ที่ 40.6+/-6.7 g/Kg milk ในไขมันยังทำการแยกเป็นไขมันอิมตัวและไม่อิ่มตัวโดยพบ 313.3+/-18.8 g ไขมันอิ่มตัว 338.6+/-11.9 g ไขมันไม่อิ่มตัวในไขมันในนมทั้งหมดหนึ่งกิโลกรัม (Osthoff et al., 2007) ซึ่งแตกต่างจากแมวเลี้ยงทั้งโปรตีน ไขมัน และแลคโตส ซึ่งเซอวัลจะมีระดับสูงกว่าแมวบ้านและเสือชีต้า ซึ่งในชีต้าจะมีโปรตีนร้อยละ 9.96 ไขมัน 6.48 และแลคโตส 4.02 (Osthoff et al., 2006) แต่พบว่าไขมันไม่อิ่มตัวในเซอวัลกลับต่ำกว่าแมวบ้านหรือแมวเลี้ยง จึงเป็นการยากที่จะเลือกน้ำนมแมวทดแทนจากแมวบ้านมาใช้ ซึ่งต้องเลือกเฉพาะสำหรับแมวป่าที่มีระดับของโปรตีน ไขมัน และแลคโตสใกล้เคียง
ขณะที่แมวป่าและเสือส่วนใหญ่มักไม่ได้มีการศึกษาคุณสมบัติของน้ำนมมาก่อน มีการศึกษาที่พบได้ในสิงโต เสือดาว และแม้จะมีกล่าวว่าคุณสมบัติของน้ำนมจะแตกต่างจากแมวบ้าน โดยมีโปรตีนและไขมันสูงกว่า และวิธีการอนุบาลลูกแมวป่ายังมีความสับสน แม้กระทั่งทั้งเสือ ก็ยังมีข้อถกเถียงกัน การที่จะนำนมทดแทนมาใช้เลี้ยง ผู้เลี้ยงหรือ keepers และสัตวแพทย์ในสวนสัตว์ จึงยังต้องศึกษาคุณสมบัติอาหารนั้นและปรับปรุงสูตรให้เหมาะสมเพิ่มเติมด้วยตนเอง เพราะเป็นความเสี่ยง ยกตัวอย่างความเสี่ยงที่พบได้ เช่น บางตัวจะเกิดอาการแพ้อาหาร น้ำหนักลดลง อาการขนร่วงทั้งตัว ต้อกระจก และอาการตาเขในลูกเสือ ที่ได้รับนมทดแทนที่ไม่ใช่นมแม่ โดยพบว่าน้ำนมทดแทนจะมีระดับของกรดอะมิโนจำเป็นหลายชนิดที่ต่ำกว่าน้ำนมจากแม่ เช่น ทอรีน อาร์จินีน ฟีนิลอะลานีน ทริปโตเฟน และฮิสทิดีน (Remillard et al., 1993; Osthoff et al., 2007; Lange et al., 2017)
หากมีลูกแมวป่าหรือเสือที่ต้องอนุบาล ที่ผ่านมามีคำแนะนำกันอย่างไรบ้าง?
รายงานก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าปริมาณโปรตีนและไขมันแตกต่างกันอย่างมากในสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ตัวเลือกที่ใช้บ่อย คือ การใช้นมวัว นมแพะ หรือแม้แต่สูตรทดแทนนมจากสายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจไม่ตรงกันเลย ทั้งระดับโปรตีน ที่ยังคงมีระดับกรดอะมิโนแยกย่อยลงไปอีก จึงเป็นความเสี่ยงอยู่เสมอ แม้ว่าจะเลือกสายพันธุ์ใกล้เคียงแล้ว เช่น ใช้นมทดแทนในแมวบ้านมาใช้ในแมวป่าหรือเสือ ก็ยังมีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงล้วนไม่มีทางเลือก (Osthoff et al., 2006; Osthoff et al., , 2007) นักวิชาการจึงแนะนำให้ใช้น้ำนมที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงมากที่สุด หรือสายพันธุ์ที่ใกล้เคียง (Baines, 1981; Remillard et al., 1993; Adkins et al., 1997) ซึ่งสามารถประเมินได้ง่ายจากข้างบรรจุภัณฑ์ ส่วนใหญ่ควรมีโปรตีนและไขมันสูง และจำกัดแลคโตส และหลายยี่ห้อระบุชนิดของกรดอะมิโนที่ชัดเจน และบางรายงานแนะนำให้มีการใช้กรดอะมิโนจำเป็นเสริมในน้ำนม เสริมแร่ธาตุและวิตามิน หรือในนมทดแทนบางชนิดก็มีบรรจุไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ได้มีการศึกษาการผสมสูตรนมที่ใกล้เคียง เช่น การใช้ไขมันจากนมวัว ผสมกับนมวัวที่ลดระดับแลคโตส น้ำมันตับปลาหรือน้ำมันปลา วิตามินเอและดี บางรายงานมีการผสมโพรไบโอติกส์หรือพรีไบโอติกส์ที่ใช้ในสุนัขและแมว เพราะในงนวิจัยบางงานพบว่าสามารถเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและน้ำหนักได้ดี ทั้งในลูกสัตว์และสัตว์ป่วยที่มีภาวะผอมแห้ง และใช้ผงนมที่ใช้ในสุนัขและแมว และผสมวิตามินอื่นๆ และแร่ธาตุ แม้ว่าระดับโปรตีนจะเพียงพอ แต่เมื่อทำการเปรียบเทียบระดับของกรดอะมิโนกับน้ำนมเสือตามธรรมชาติ พบว่ากรดอะมิโนที่จำเป็นทุกชนิดที่ทำการตรวจ หรือ 19 ชนิดมีค่าต่ำกว่าน้ำนมแม่เสือ และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพลูกสัตว์ (Lange et al., 2017) ดังนั้น ผู้เลี้ยงยังต้องเสี่ยงด้วยตนเองเพราะยังขาดทางเลือกในการใช้นมทดแทนในแมวป่าและเสือ และยังคงเป็นเรื่องใหม่และท้าทายอยู่จนถึงปัจจุบันสำหรับนักวิชาการ ที่จะทำสูตรให้มีข้อบกพร่องน้อยหรือใกล้เคียงตามความต้องการ
ผู้เลี้ยงควรใช้ข้อมูลที่ดีที่สุดของสัตว์แต่ละชนิดในการเลือกผลิตภัณฑ์หรือปรุงสูตรน้ำนมเพิ่มเติมด้วยตนเอง ทั้งนี้พบว่ามีนมทดแทนแมวเลี้ยงที่มีค่าอยู่ในระดับที่สามารถนำไปปรับปรุงต่อได้ หรือควรเลือกน้ำนมที่มีโปรตีนและไขมันสูงเป็นทางเลือกเบื้องต้น ซึ่งดีกว่านมวัวหรือนมแพะ ในกลุ่มที่พบว่ามีโปรตีนและไขมันสูงที่สามารถนำมาปรับปรุงได้ ได้แก่ Zoologic Matrix ของ PetAg, Specialty Milk Replacer ของ Exotic Nutrition, และ HPW ของ Exotic Nutrition เป็นต้น
โดยพบว่า Zoologic Matrix ที่นิยมใช้กันทั่วไปในสัตว์ป่าในสวนสัตว์อยู่แล้ว และเป็นเจ้าของเดียวกับ KMR มีระดับโปรตีนสูงถึงร้อยละ 30 ไขมันร้อยละ 50 ซึ่งมาจากไขมันธรรมชาติและโปรตีนเวย์ มีเคซีนที่พบในน้ำนมแม่เป็นส่วนประกอบ ยังมีแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นเป็นส่วนประกอบ โดยมีการใช้ในระดับร้อยละ 10-20 ของน้ำหนักตัวสัตว์ทุกวัน แบ่งเป็นวันละ 6-12 มื้อ ขึ้นกับอายุ ชนิดสัตว์ อัตราการเจริญเติบโต และความต้องการในแต่ละวัน อีกชนิดที่ได้รับความนิยมมากในอเมริกาและนานาชาติได้แก่ Specialty Milk Replacer ของ Exotic Nutrition จะมีโปรตีนและไขมันในระดับสูงและใกล้เคียงความต้องการไม่น้อยกว่าร้อยละ 24 ทั้งสองสารอาหาร มาจากไขมันธรรมชาติและโปรตีนเวย์ เสริมกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด เช่น ไลซีน เมทไธโอนีน และทอรีนที่มักพบการขาดในแมว และยังรวมแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็น แต่ไม่ว่าชนิดใดก็ยังขึ้นกับการผสมหรือละลายที่จะทำให้สัดส่วนของพลังงานเหล่านี้เจือจาง จึงต้องดูวิธีใช้กันให้เข้าใจ สำหรับชนิดที่สองจะมีขนาดการใช้ ½-1 ช้อนชาต่อน้ำหนักตัวสัตว์ 1 ออนซ์ (28.34 กรัม) และแบ่งให้วันละ 4-6 มื้อ โดยทำการผสมอาหารทดแทนนม 1 ออนซ์หรือ ¼ ถ้วยต่อน้ำ 5.5 ออนซ์ และชนิดที่เป็นที่รู้จักกันมักใช้ในสัตว์ที่เริ่มกินได้เอง คือ HPW ของ Exotic Nutrition ชนิดนี้จึงมีส่วนประกอบที่หลากหลายขึ้น นอกเหนือจากไขมันจากธรรมชาติและโปรตีนเวย์ เช่น น้ำผึ้ง ไข่ เกสรผึ้ง น้ำมันเมล็ดลินิน กรดไขมันอิสระ และโอเมก้า3 กรดอะมิโน เช่น ไลซีน เมทไธโอนีน แร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็น โดยพบโปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 29.5 และไขมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 7.1 ตัวนี้อาจไม่ตรงกับช่วงเป็นลูกสัตว์ในระยะกินนมแม่ แต่เลือกใช้เมื่อพบการกินได้เองแบบเสริมร่วมกับอาหารชนิดอื่นเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต เนื่องจากการพัฒนาของเซลล์ในร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์กล้ามเนื้อยังมีความสามารถในการเพิ่มจำนวนเซลล์ ร่วมกับการขยายขนาดของเซลล์ พบว่าอาหารกลุ่มโปรตีนจะช่วยพัฒนาทั้งจำนวนเซลล์ที่มากขึ้นกว่าตัวที่ไม่ได้รับและการเพิ่มขนาดของเซลล์จากการเสริมสร้างโปรตีนดีกว่า จะเลือกใช้อะไรและตอบสนองหรือไม่ยังขึ้นกับตัวสัตว์ ส่วนใหญ่อาจตอบสนองได้ดีกับอาหารและนมทดแทนต่างๆ แต่บางตัวอาจไม่สามารถรับอาหารทดแทนนมได้เลย ต้องเป็นน้ำนมจากแม่โดยตรงเท่านั้น เมื่อได้รับจึงแสดงอาการไม่รับ โดยอาหารไม่ย่อย ท้องอืดหรือท้องเสีย อาเจียน เจ็บป่วย ผอม และภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่ทนต่อการติดเชื้อ ซึ่งพบได้อยู่เสมอ